ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของไทยควรแบบไหน? | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

… ศิริธร อรไชย

 

            “ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของไทยควรแบบไหน?” เป็นคำถามสำคัญ และเป็นสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้ารอ หากระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพที่ทุกคนคาดหวังสามารถมุ่งให้เกิดความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เพียงพอ เป็นธรรม ตอบสนองความต้องการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเป้าหมายของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๕ คงเป็นเรื่องที่ดียิ่งนัก ที่จะช่วยสร้างให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีสุขภาวะ

จากการศึกษาสถานการณ์ระบบสุขภาพไทย เรื่องการเงินการคลังด้านสุขภาพ ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ที่ ดร.สมธนึก โชติช่วงฉัตรชัย และคณะ ได้ดำเนินงาน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมสนับสนุนให้นำเป้าหมายตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๕ ไปใช้

คือ ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพมีความยั่งยืน (Sustainability) มีความเพียงพอ (Adequacy) มีความเป็นธรรม (Fairness) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) หรือเรียกย่อว่า S-A-F-E และมีเป้าประสงค์มุ่งไปสู่ “ความเป็นธรรม ตอบสนอง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นั้น พบว่าจากการติดตามตัวชี้วัดตาม S-A-F-E รวม ๑๕ ตัวชี้วัด ที่มีการพัฒนาขึ้นในการศึกษานี้แล้ว มีข้อเสนอเชิงนโยบายในเบื้องต้นเกี่ยวกับการเงินการคลังด้านสุขภาพ ในด้านต่างๆ ดังนี้

ด้านความยั่งยืน แม้ว่ารัฐบาลจะมั่นใจว่าการเงินการคลังสุขภาพอยู่ในวิสัยที่ลงทุนได้ในระยะยาว แต่จากผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องตระหนักในการลงทุนเพื่อการเตรียมพร้อมกับการรับมือวิกฤติต่างๆ โดยอาจพิจารณาแหล่งเงินอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การพัฒนานโยบายการจ่ายชดเชย หรือการสนับสนุนและส่งเสริมการออมเพื่อสุขภาพของประชาชน หรือ นโยบายการร่วมจ่าย (copayment) สำหรับประชาชนที่จ่ายได้ โดยต้องไม่ส่งผลด้านลบต่อความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ด้านความเพียงพอ รัฐบาลควรมีการลงทุนด้านสุขภาพให้เพียงพอต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็นและมีคุณภาพอย่างเป็นธรรม โดยควรต้องคำนึงถึงการลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการพัฒนาบริการ telemedicine หรือพัฒนาระบบปฐมภูมิภาคเอกชนร่วมด้วย

ด้านความเป็นธรรม มีข้อเสนอในหลายๆ ด้าน อาทิ รัฐบาลควรจัดให้มีกลไกการดำเนินงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมระหว่างระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ๓ ระบบอย่างจริงจัง รวมถึงมีการดูแลแรงงานข้ามชาติ ทั้งกลุ่มที่อยู่ในระบบการจ้างงานและที่อยู่นอกระบบ และทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รัฐบาลและสำนักงานประกันสังคมร่วมกันพิจารณาหลักการเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของผู้ประกันตนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งในด้านความเป็นธรรมระหว่างสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐ และความเป็นธรรมภายในระบบประกันสังคมเอง

ด้านประสิทธิภาพ มีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพในภาพรวมของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในวงเงินที่กำหนดได้ และรัฐบาลควรจัดให้มีกลไกกลางในการควบคุมราคาการเบิกจ่ายให้มีความแตกต่างกันน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีความแตกต่างกัน

ผลการศึกษาที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงข้อค้นพบในเบื้องต้นจากการติดตามตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้น ซึ่งจะต้องมีการติดตามต่อไปในระยะยาวเพื่อให้ระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพของไทยมีการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เพียงพอ เป็นธรรม ตอบสนองความต้องการ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามที่ระบุไว้ในเป้าหมายของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๖๕