ในวันที่โลกผันผวน เกิดเป็นวิกฤตการณ์ระลอกแล้วระลอกเล่า นับจากความร้อนแล้งของปรากฏการณ์เอลนีโญ ไปสู่ห่าฝนพายุในปรากฏการณ์ลานีญา และเพียงไม่กี่องศาฟาเรนไฮต์ของอุณหภูมิโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกขณะ ได้ส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติและสร้างความสั่นสะเทือนต่อประชาชนในหลายแง่มุม
วิบากกรรมของมนุษยชาติจึงสำแดงตัวผ่านการเกิดขึ้นของโรคระบาด ภัยแล้ง อุทกภัย วาตภัย ไฟป่า ฝุ่นควัน และแน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤตการณ์รูปแบบใหม่ ที่อาจก้าวข้ามเขตแดนจินตนาการของเราทุกคน
ก่อนที่อนาคตจะไล่ล่า ในแง่มุมสังคมโลกจึงเป็นพันธกิจของนานาประเทศในการร่วมมือกันออกแบบกฎ กติกา ที่จะใช้ยึดถือร่วมกัน เพื่อนำมาสู่การชะลอและบรรเทาความเดือดดาลของอุณหภูมิโลก ที่สั่งสมมาจากกิจกรรมของมนุษย์ยาวนานนับศตวรรษ
การประชุมและข้อตกลงในระดับนานาชาติจึงถูกประกอบสร้างขึ้นโดยมีจุดร่วมเดียวกันคือคลี่คลายวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ฯลฯ
ขณะที่บริบทของสังคมไทย แม้จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงและพันธะสัญญาในระดับสากลแล้ว หากแต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีได้เชื่อมต่อโลกให้เป็นหนึ่งเดียว และสำนึกของประชากรในประเทศคือสำนึกเดียวกันกับพลเมืองโลก (Global Citizen) การดำเนินงานและการขับเคลื่อนมาตรการของประเทศหนึ่ง จึงนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างต้นแบบในกับนานาประเทศไทย
ตัวอย่างหนึ่งคือการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ ๗๗ ที่ประเทศสมาชิกฯ ได้ร่วมกันให้การรับรอง (ร่าง) มติสมัชชาอนามัยโลก เรื่อง การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Social Participation for UHC, Health and Well-being) ซึ่งเป็นมติฯ ที่ประเทศไทย และประเทศสโลวีเนีย ร่วมกันพัฒนา
ท่ามกลางวิกฤตการณ์ภัยพิบัติและการรุกคืบระลอกแล้วระลอกเล่าของภาวะโลกเดือด พบว่าข่าวที่ยึดครองพื้นที่สื่อประเทศไทยตลอด ๓-๔ เดือนที่ผ่านมานี้ คือสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ และสร้างผลกระทบต่อพื้นที่รายทางลงมาเรื่อยๆ
ขณะนี้หลายชุมชนยังคงอยู่ในระยะของการฟื้นตัว-ฟื้นฟู ซ่อมแซมความเสียหาย ทั้งบ้านเรือนและสภาพจิตใจ และคงเป็นความจริงที่ว่า การเดินหน้าของวงปีแห่งฤดูกาลที่หมุนวน ยังจะนำพาภัยพิบัติรูปแบบอื่นๆ มาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า
นี่คือเหตุผลที่ทุกฝ่ายต้องลุกขึ้นมาตระเตรียมความพร้อม และ ‘กระบวนการการมีส่วนร่วม’ คือหัวใจของการสร้างความเข้มแข็ง
--- ฐานทุนเดิมของชุมชน เพิ่มเติมการมีส่วนร่วม ---
สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า แม้จะมีอายุอานามล่วงเลยมาเกือบ ๒ ทศวรรษ หากแต่ก็ยังถือเป็นความก้าวหน้าอันร่วมสมัยของประเทศไทย สำหรับกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้การรับรองกระบวนการการมีส่วนร่วม อย่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดเครื่องมือให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้เป็นอาวุธในการสู้รบกับปัญหาได้ในทุกมิติ โดยมี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสานพลัง ถักทอความร่วมมือในแนวราบ ช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็งจากฐานราก
แน่นอนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติปี ๒๕๖๗ สช. ได้เข้าไปมีส่วนเสริมแรงทางบวก โดยใช้ต้นทุนเดิมที่ชุมชนมี บวกกับทุนทางสังคม และกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยมีเครื่องมือภายใต้กฎหมายเป็นจุดเชื่อมต่อ จนก่อให้เกิดเป็นความเข้มแข็งและเป็นต้นแบบการรับมือภัยพิบัติ และบรรทัดถัดจากนี้คือเรื่องที่เราจะเล่าให้คุณฟัง เป็นเรื่องของชาวชุมชนตำบลชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ประสบภัย
ในโมงยามที่มีความเดือนร้อนเป็นตัวนำแสดง คนตำบลชมภูต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด กลุ่มประชากรเปราะบางทั้งผู้พิการและผู้สูงวัยในชุมชนทุลักทุเล แต่ทุกคนก็จับมือกันไว้แน่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนผ่านพ้นฝันร้ายไปได้
“ตอนนั้น สช. เขาเห็นที่ผมโพสต์ลงเฟซบุ๊ค ผมรายงานเหตุการณ์ว่า ตำบลชมภูไม่เคยน้ำท่วมขนาดนี้มาก่อน เหตุการณ์นี้ทำให้ ประชาชนกำลังเจอกับอะไร เดือดร้อนยังไง โดยเฉพาะคนพิการและคนแก่ ที่พยายามเอาตัวรอดท่ามกลางน้ำท่วม แต่ชาวบ้านในตำบลชมภูก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สช. เขามองเห็นศักยภาพและต้นทุนของชุมชน เลยมาจุดประกายความคิดเรื่องการจัดตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติ เพราะจริงๆ แล้วภาคเหนือมักเจอกับภัยพิบัติอยู่ตลอด ทั้งฝุ่น PM ๒.๕ ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว โลกเดี๋ยวนี้ค่อนแปรปรวน เราตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติ ที่ไม่ใช่แค่น้ำท่วม แต่เตรียมรับมือกับเรื่องอื่นๆ ด้วย”
นี่คือคำบอกเล่าของ พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.๔ ตำบลชมภู และสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่นี่
ความมุ่งหวังในการจัดตั้ง “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนชมภู” คือการจัดตั้งพื้นที่บัญชาการสถานการณ์ในชุมชน ทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้แก่ชาวบ้าน การเป็นพื้นที่กลางในการประสานงานของทุกฝ่ายในยามภัยพิบัติ เพื่อประสิทธิภาพในการจัดสรรกำลังคน ทรัพยากร และอื่นๆ ฯลฯ
การจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติฯ นี้ คงไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบลอยๆ ได้ จำเป็นต้องมีองค์ความรู้เป็นฐาน และมีกระบวนการการมีส่วนร่วมเข้ามาหนุนเสริมการจัดตั้ง มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน มีการซักซ้อมและทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ
“ปัญหาที่ผ่านมาคือเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติพื้นที่ส่วนใหญ่มักรอคอยคำสั่งการจากรัฐส่วนกลางทำให้รับมือได้ไม่ทันกับสถานการณ์ แผนปฏิบัติการที่เคยทำไว้ก็ต้องเอามารื้อปัดฝุ่น เรียนรู้ใหม่ เพราะไม่ได้เกิดการซักซ้อมหรือทบทวนและปรับปรุงรายละเอียด ส่วนหนึ่งเพราะจุดเริ่มต้นในการทำแผนอาจขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ฉะนั้นจริงๆ แล้ว วิธีคิดเรื่องการทำแผนปฏิบัติการจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราต้องการหนุนเสริมให้แผนนั้นมีชีวิตและเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง”
นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างจากปัญหา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ สช. จะได้มีส่วนเข้าไปเติมเต็ม
สิ่งที่ สช. เข้าไปหนุนเสริมคือการผลักดันให้เกิด ศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชนในพื้นที่ต่างๆ โดยมีหลักการคือ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานจาก คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติอุทกภัย (EOC สช.) เพื่อยกระดับการรับมือภัยพิบัติ ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนต่อไป
- 12 views