เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ทุกๆ ปี สถาบันการศึกษา ๖ ภูมิภาค ในฐานะศูนย์วิชาการ HIA จะหมุนเวียนกันเป็น “เจ้าภาพ” ในการจัดกิจกรรมวิชาการที่สำคัญในระดับประเทศ
นั่นคือการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี ๒๕๖๗ “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ณ ภาคเหนือ โดยมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นแม่งาน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่
วันดังกล่าว นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผล
กระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) เป็นประธานเปิดงาน และได้ปาฐกถาพิเศษ สาระสำคัญตอนหนึ่งระบุถึง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคนให้ได้รับการคุ้มครองดูแลเพื่อให้เกิดสุขภาพดี มีสิทธิในการดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครอบคลุมถึงความเป็นธรรมทางสังคม การเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายสาธารณะโดยใช้ข้อมูล องค์ความรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือสำคัญ คือ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” หรือ HIA ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองสุขภาพคนในชุมชนจากการดำเนินกิจกรรม หรือโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพ
นพ.ชูชัย กล่าวว่า การพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ ไม่ว่าในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม จิตใจ รวมไปถึงทรัพยากร นำมาสู่เทรนด์หรือแนวโน้มการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน ๓ ประเด็นสำคัญ คือ ๑. ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม คือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของภาคเอกชน ที่นอกจากจะคำนึงถึงการเติบโตและผลกำไรแล้ว ยังต้องมีส่วนในการดูแลธรรมาภิบาลด้านต่างๆ ๒. การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน ๓. การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม
นพ.ชูชัย ปาฐกถาต่อไปว่า ปัจจุบันยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดันให้ HIA เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ คือการมุ่งไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดย สช. และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกันเข้าไปพัฒนาและสนับสนุนการทำงานร่วมกับทางองค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้นำ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่สอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งมีทั้งประเด็นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย สังคมและคุณภาพชีวิตรวมถึงประเด็นด้านการจัดระบบบริการสุขภาพ
“เรามีตัวอย่างที่น่าสนใจจากการใช้เครื่องมือ HIA หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกับการจัดการขยะ น้ำเสีย อาหาร โรคภัย การดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยว ไปจนถึงการจัดระบบบริการสุขภาพภายใต้การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสังกัด อบจ. เกิดให้เห็นรูปธรรมของบางพื้นที่ ที่นำ HIA ไปใช้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนงานตามบทบาทภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับทิศทางของแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) การพัฒนาเมืองสุขภาพดี ทั้งยังส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบเชิงรุกได้เป็นอย่างดี” นพ.ชูชัย กล่าว
สำหรับการประชุม HIA FORUM ประจำปี ๒๕๖๗ มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือ HIA และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ตลอดจนบทเรียนแนวทางการเฝ้าระวัง รวมถึงแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสุขภาพหลากหลายประเด็น อาทิ การทำ HIA ประเด็นนโยบายสาธารณะระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การปกครอง ธรรมนูญชุมชน, การทำ HIA ในประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะอุตสาหกรรม, การทำ HIA ในประเด็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชน และการประยุกต์ใช้ HIA การพัฒนาเครื่องมือ และยังมีบูธนิทรรศการจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมากมาย
- 9 views