รับมือผลกระทบ ‘โรงไฟฟ้าหงสา’ ด้วย ‘ภาคพลเมือง-CHIA’ เฝ้าระวังสุขภาพ - สร้าง Emergency Response | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
1

 

เวที HIA FORUM 2567 เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน 7 ปี รับมือมลพิษข้ามพรมแดน “โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา” เครือข่ายภาควิชาการ ระบุ ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ควบคู่เครื่องมือ CHIA ดึงชุมชนมีส่วนร่วมเก็บข้อมูล-เฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพตนเอง มุ่งหาแนวทางรับมือ-แก้ไขปัญหา มากกว่าต้นตอผู้ก่อเหตุ

 

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “การเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยภาคพลเมือง กรณี มลพิษข้ามแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ซึ่งอยู่ภายในกิจกรรมการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA”

 

2

 

น.ส.สมพร เพ็งค่ำ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมลพิษข้ามแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว หลังจากที่นักกฎหมายกลุ่มหนึ่งทราบว่ามีนักลงทุนจากไทยที่ได้รับสัมปทานทำเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ในเมืองหงสา แขวงไชยะบุรี ประเทศลาว ที่อาจสร้างผลกระทบข้ามพรมแดนมาสู่ไทยหรือไม่ จึงได้ดำเนินการศึกษาผ่านการทำชุดโครงการวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

“การทำงานตลอด 7 ปี ทำให้เกิดข้อสรุปได้ว่า หัวใจสำคัญของการเฝ้าระวังผลกระทบคือการที่คนในชุมชนร่วมกันเก็บข้อมูล พัฒนาเป็นระบบที่สามารถนำข้อมูลนี้ไปเชื่อมกับผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจร่วมกัน เป็นงานวิจัยข้ามศาสตร์ที่ไม่ได้มุ่งพิสูจน์ว่าผลกระทบเกิดจากใคร แต่หัวใจคือการเฝ้าระวังผลกระทบ เป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่มีเครื่องมือที่เหมาะสม พร้อมแพลทฟอร์มที่ให้ทุกฝ่ายได้มาพูดคุยกัน” น.ส.สมพร กล่าว

สำหรับการวิจัยดังกล่าว เป็นไปเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจถึงสถานการณ์โครงการ โดยนำกระบวนการ “ประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน” หรือ CHIA เข้ามาใช้ในชุมชนที่อยู่ติดพรมแดน คือหมู่บ้านน้ำรีพัฒนา และน้ำช้างพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน

 

3

 

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะทีมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล วัดค่าจากตัวอย่าง ดิน น้ำ อากาศ ตลอดจน ไลเคน ฯลฯ โดยข้อมูลต่างๆ ได้มาจากการมีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้าน ครู นักเรียนในพื้นที่ที่ช่วยกันเก็บตัวอย่างเพื่อส่งมาให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้ตรวจสอบ หนุนให้เกิดกระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง หรือ Citizen Science และที่น่าสนใจคือเมื่อนำกระบวนการเหล่านี้ข้ามไปยังฝั่งประเทศลาว ประชาชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฝั่งลาวก็ให้ความสนใจ เพราะเขาเองก็อยากเรียนรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 

5

 

น.ส.นวพร อาดำ นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า โดยธรรมชาติของการเข้าไปศึกษาวิจัยในพื้นที่ มักจะมีช่องว่างระหว่างนักวิชาการกับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิต สภาพสังคม ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อที่แตกต่างกันไป ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำงานพบ 3 หลักการสำคัญ

ทั้งนี้ ได้แก่ 1. จริงใจ มอบความจริงใจให้กับชุมชน แสดงออกถึงความต้องการให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมแบบเท่าเทียมกัน ช่วยลดช่องว่างระหว่างกัน อันนำไปสู่ความ 2. เชื่อใจ เมื่อชุมชนคุ้นเคยกับเราจากการได้พูดคุยกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ยอมรับถึงเหตุผลที่บางครั้งอาจมีการมองแตกต่างกัน จนนำมาสู่ 3. มั่นใจ ว่าเขาสามารถทำได้ เกิดความกล้าที่จะมีการเฝ้าระวัง สังเกต มีข้อสงสัยถึงความผิดปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาอาจทำได้เพียงแค่กลัวและอยู่ร่วมกับมัน แต่วันนี้เราทำให้เขาเห็นว่าเขาเองก็มีสิทธิตั้งคำถามถึงประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น

 

4

 

ดร.ยุพาภรณ์ ติรไพรวงศ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ กล่าวว่า จากการร่วมเฝ้าระวังผลกระทบได้พบว่าสารปนเปื้อนสำคัญที่น่ากังวลคือปรอท โดยเฉพาะกับกลุ่มประชากรแม่และเด็ก ซึ่งจะสร้างปัญหามากมายในระยะยาว โดยแนวทางหลักในการจัดการคือลดการปนเปื้อนของมลพิษจากแหล่งกำเนิด ที่อาจยากเพราะต้องอาศัยความร่วมมือผ่านระดับนโยบาย ดังนั้นในระยะที่ยังไม่สามารถไปจัดการกับแหล่งกำเนิดได้ จึงต้องใช้วิธีการประเมินและติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นำข้อมูลมาสื่อสารความเสี่ยง รวมถึงจัดทำแนวทางให้คำปรึกษา เพื่อเฝ้าระวังและจัดการปัญหาร่วมกันต่อไป

 

5

 

นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย สำนักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ด้วยข้อเท็จจริงคือเราอาจไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อโรงไฟฟ้าอยู่ฝั่งประเทศลาว ซึ่งชุมชนเองก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องอยู่ในพื้นที่ต่อไป แต่แนวคิดของระบบการเฝ้าระวังผลกระทบ คือประชาชนมีศักยภาพที่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ที่ติดอาวุธให้ประชาชนมีเครื่องมือบางอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ผลกระทบจริงที่เกิดขึ้น และขอความช่วยเหลือจากภาควิชาการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

“การจะไปหาว่ามลพิษที่เกิดขึ้นมาจากใคร เรื่องนั้นเป็นประเด็นรอง แต่ประเด็นหลักคือมันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง มีผลกระทบกับชีวิตเขาแล้ว และเขาควรที่จะได้รับการแก้ไขหรือมีคนที่เข้าไปช่วยเหลือ ดังนั้นระบบเฝ้าระวังผลกระทบที่เราพูดถึง จึงไม่ใช่แค่คอยจับตาว่าเกิดอะไรขึ้นเฉยๆ แต่เรากำลังคิดถึงระบบที่มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือ Emergency Response ด้วย เพราะเราคงไม่อยากพบผู้ป่วย แต่เราอยากป้องกันให้ได้ก่อนป่วย นี่คือหัวใจของระบบเฝ้าระวังที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง” นพ.ขวัญประชา กล่าว

6

 

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดำเนินงานวิจัยเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางนโยบาย หลายคนมักมองไปถึงกฎหมายหรือกลไกที่รัฐเป็นผู้จัดการ หากแต่ในข้อเท็จจริงที่ระบบจะเดินไปได้ดีหรือไม่นั้น 70-80% เกิดจากคน จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากเราจะทำเฉพาะกฎหมาย แต่ไม่มุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นการทำงานข้ามศาสตร์ ช่วยให้คนในชุมชนได้ร่วมเรียนรู้ นำเอาวิทยาศาสตร์ ความเป็นพลเมือง และความรับผิดชอบมารวมกัน เชื่อว่าเป็นกรอบที่สามารถนำไปใช้ในที่อื่นๆ ต่อไปได้

 

7

 

ขณะที่ นายสมเกียรติ จันทรสีมา สำนักพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วม ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ทางไทยพีบีเอสได้มีการนำแพลทฟอร์ม C-Site มาใช้บนหลักคิดเพื่อให้เกิดการเก็บข้อมูลแบบรวมหมู่ (Crowdsourcing) หรืออาจเรียกว่า Public Intelligence (PI) จากเดิมที่การสะท้อนปัญหาผ่านความคิดเดียว อาจเป็นเพียงเสียงบ่น รำพึง แต่หากมีหลายคนออกมาพูดเรื่องเดียวกัน นำเสียงสะท้อนต่างๆ มารวมในที่เดียวกันและแปลออกมาเป็นข้อมูล ก็จะกลายเป็นพลังที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

รูปภาพ