--- ทำไมเราถึงต้องช่วยกันลด NCDs !!? ---
โรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable Disease หรือที่เรียกกันว่าโรค NCDs) ที่พบมากได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง และปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง การสูบบุหรี่/ยาสูบ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ป่วย NCDs ถูกจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและต้องเฝ้าระวังอย่างสูง เราจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกัน ทั้งที่จริงแล้วนับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากเพราะจากข้อมูลพบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรค NCDs คิดเป็นร้อยละ ๘๑ ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือมากกว่า ๔๐๐,๐๐๐ รายต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา
เมื่อรวมมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ประมาณ ๑.๖ ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ ๙.๗ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยส่วนใหญ่เป็นความสูญเสียด้านผลิตภาพในวัยแรงงาน (ร้อยละ ๙๑) และค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล (ร้อยละ ๙) และจะยิ่งมีความสูญเสียเพิ่มมากขึ้นเพราะพบว่าคนที่เป็นกลุ่มโรคนี้เริ่มเป็นในช่วงอายุที่ต่ำลง
--- แต่เราไม่ใช่หมอ เราจะมีส่วนในการลด NCDs อย่างไร? ---
การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อในอดีตที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ คือการรักษาอาการป่วย แต่ที่จริงแล้ว กลุ่มโรคนี้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดกว่า ๖๐% คือพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ทำให้เสี่ยงต่อการมีสุขภาพไม่ดี ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกาย ความเครียด การสัมผัสสภาพแวดล้อมและอากาศที่ดีหรือไม่ดี ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีความพยายามจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ยังทำได้ไม่บรรลุเป้าหมาย ในระดับสากล มีการกำหนด NCDs ไว้ในเป้าหมายการขับเคลื่อน SDGs และองค์การอนามัยโลกได้กำหนดกรอบการติดตามการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อและ ๙ เป้าหมายระดับโลก (Global NCD Targets) ที่ต้องบรรลุภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘
ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนระดับประเทศเกี่ยวข้องหลายฉบับเพื่อจัดการกับโรคไม่ติดต่อและปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดย “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาและสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในการจัดการปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ในระดับหนึ่ง
เช่น มติ ๒.๕ ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ นำไปสู่การพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ
มติ ๓.๓ การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก นำไปสู่การรับรอง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐
มติ ๒.๘ การจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน นำไปสู่การยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๖ มติที่ ๖.๒ เป้าหมายในการป้องกันและควบคุม NCDs ของประเทศไทย มีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔)
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความก้าวหน้า พบว่า การขับเคลื่อน NCDs ยังมีข้อท้าทายที่สำคัญ คือ
๑) ประเทศไทยยังขาดนโยบายสำคัญที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่า และในทางปฏิบัติเชิงพื้นที่ ประเทศไทยยังมีช่องว่าง จุดอ่อน และความท้าทายในการดำเนินการป้องกันควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อหลายประการ
๒) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรวดเร็วที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตและความเสี่ยงทางสุขภาพต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดการสภาพแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงใดเพียงกระทรวงหนึ่ง หรือภาครัฐเท่านั้น
๓) การขาดการจัดการระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการป้องกันจัดการโรคไม่ติดต่อของประเทศในระดับต่างๆ
จากความท้าทายดังกล่าว สช. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ จัดทำข้อเสนอนโยบาย โดยมีสาระสำคัญ คือ ๕ มาตรการหลัก ๕ ระบบกลไกหนุนเสริม และ ๓ หลักการสำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดเป็นกรอบพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางสุขภาวะและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ดังนี้
การพัฒนาระบบและกลไกหนุนเสริม ๕ ด้าน ได้แก่ ๑. การพัฒนาเครื่องมือนโยบาย/มาตรฐาน (Policy instruments) ๒. การออกแบบ พัฒนานวัตกรรม โมเดล และขยายผลเชิงระบบ ๓. การสนับสนุนการเฝ้าระวังสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ๔. การพัฒนาระบบกำกับ ติดตามและประเมินผลลัพธ์ ๕. การพัฒนาระบบตัดสินใจ บริหาร และสนับสนุนการลงทุน (Governance)
มาตรการเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ๕ มาตรการ ดังนี้
๑. จัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป
๒. ส่งเสริมการผลิต กระจายพัฒนามาตรฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการจัดบริการอาหารในระบบของรัฐ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน สถานสงเคราะห์
๓. สร้างสภาวะแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) และพื้นที่สุขภาวะ (Healthy Space) เช่น สิ่งปลูกสร้าง อาคารสถานที่ รวมถึงสร้างพื้นที่สุขภาวะ (healthy space) ที่เข้าถึงง่ายและสะดวกเหมาะกับประชาชนทุกช่วงวัย
๔. สร้างความตระหนักรู้ ความรอบรู้ และสื่อสารข้อมูลข่าวสารส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้องและจำกัดสื่อโฆษณา เช่น การจำกัดสื่อที่บิดเบือน ข่าวปลอม การพัฒนาศักยภาพผู้นำหรือต้นแบบสร้างแรงจูงใจ รวมถึงการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิผลในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางบวก
- สร้างโอกาส ประสบการณ์ กิจกรรม ส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาพดีและพัฒนาศักยภาพ
ทรัพยากรมนุษย์ การบูรณาการกับกิจกรรมด้านสันทนาการ การท่องเที่ยว การพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและสังคม
โดยใช้ ๓ หลักการสำคัญ ได้แก่ ๑) หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ๒) กลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ และ ๓)ระบบเครดิตทางสังคม ที่ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ระดับนโยบายประเทศจนถึงระดับพื้นที่ ต้องร่วมเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ผ่านระบบกลไกหนุนเสริมการจัดการและการดำเนินมาตรการทุกระดับ
เรื่องโดย: เหนือผีซ่อน นันทิยา ลิ่วลักษณ์
สำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ
- 19 views