6 ประเทศ ‘GMS’ ผนึกกำลังเชื่อมเครือข่ายวิชาการสาธารณสุข ‘พัฒนาองค์ความรู้-เสริมพลัง-ให้อำนาจประชาชน’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1

 

เวทีการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยนานาชาติ ด้านสาธารณสุขของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในชื่อ “The 14th International Conference on Public Health among Greater Mekong Sub-Regional Countries 2024 (14th ICPH-GMS: 2024)”ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ โรงแรมพูลแมน เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

         ปีนี้ยังคงไว้ด้วยแนวคิด “การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการสร้างความมั่นคงทางอาหารโภชนาการ ความเสมอภาคและเป็นธรรมด้านการบริการทางสุขภาพ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ” โดยมี ๖ ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และจีนตอนใต้ เข้าร่วมงานอย่างอบอุ่น

โดยมี มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่ง สปป.ลาว (University of Health Sciences, Lao PDR)  เป็นเจ้าภาพหลักเปิดบ้านต้อนรับเครือข่าย สถาบัน องค์กรวิชาการด้านสาธารณสุขที่เข้าร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพร้อมขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย การสร้างความอยู่ดี กินดีของประชากรทุกคน ทุกช่วงวัยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับทุกคน ทุกวัย

และถือเป็นโอกาสสำคัญของการรวมตัวของบุคลากร เครือข่ายวิชาการด้านสาธารณสุขศาสตร์ทั้งในกลุ่มมหาวิทยาลัยจากประเทศไทยและประเทศแถบภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้เข้าร่วมพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาวิชาการด้านระบบบริการสุขภาพที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยมีเครือข่ายนานาชาติ เช่น หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐหรือยูเอสเอด มหาวิทยาลัยเพอร์ดู ฯลฯ ให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ มีผลงานจากนักวิชาการ ๖ ประเทศนำเสนอทั้งในรูปแบบปากเปล่าและโปสเตอร์ รวมทั้งสิ้น ๔๒๙ หัวข้อ และตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมนำเสนอผลงานจากกรณีศึกษาในระดับพื้นที่ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายใต้เครื่องมือพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เช่น สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) รวม ๕ หัวข้อ ได้แก่

๑. การประยุกต์ใช้ CHIA กรณีเหมืองหินอุตสาหกรรม เทือกเขาควนเหมียง จ.ตรัง (Application of Community-based Health Impact Assessment to Industrial Stone Quarry in Khao Kuan Meang, Trang)  โดยนายทรงพล ตุละทา

๒. การลดผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีอุตสาหกรรมทอง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย  (Reducing Health Impact of Traditional Gold Industry) in Si Satchanalai, Thailand) โดย น.ส.สุวิชา ทวีสุข

๓. กระบวนการนโยบายสาธารณะความมั่นคงทางอาหารและสมุนไพร สมัชชาสุขภาพจังหวัดตราด (Driving Public Policy for Food Security and Local Herbal Wisdom through the Trat Provincial Health Assembly) โดย น.ส.สุภาภรณ์ ดำรงพันธ์

 ในรูปแบบโปสเตอร์ ๔. การสร้างนวัตกรรมชุมชนเพื่อความมั่นคงทางอาหาร: บทเรียนจากการมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลโคกสลุง จ.ลพบุรี (Community Innovation for Food Security : Lessons from Participatory Processes in Khok Salung Sub-district, Lopburi Province) โดย น.ส.นภาพร แจ่มทับทิม

และ ๕. การมีส่วนร่วมทางสังคมในการตอบสนองต่อโรคไม่ติดต่อในชุมชน: ธรรมนูญสุขภาพ อำเภอพระพรหม นครศรีธรรมราช (Social participation in response to NCDs in the community: Phra Phrom District Health Charter, Nakhon Si Thammarat Province) โดย น.ส.พฤกษา สินลือนาม ได้รับรางวัลที่ ๔ ประเภทโปสเตอร์ จากเวทีนี้อีกด้วย

ศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และในฐานะประธานเครือข่ายสถาบันวิชาการสาธารณสุข กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เล่าว่า การประชุมวิชาการด้านสาธารณสุขของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๐๐๘ และได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งแง่มุมการพัฒนางานด้านวิชาการของกลุ่มประเทศให้มีความเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาแนวคิดการดูแลสุขภาพประชาชนในหลากหลายมิติ การสร้างระบบบริการประชาชน ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการจัดการสภาพแวดล้อม

 

         “หัวใจสำคัญคือการมองสุขภาพที่มีขอบเขตกว้างขวางขึ้น การมีสุขภาวะที่ดีในทุกๆ ด้าน หรือ well-being ไม่ใช่แค่การปราศจากโรค แต่ให้ความสำคัญกับปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม (Social Determinants of Health) การมองสุขภาพแบบองค์รวมด้วยแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มองทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพอย่างไร

 

“การทำงานของสถาบันวิชาการด้านสาธารณสุข จึงมีเป้าหมายเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. คืออยากให้คนมีความผาสุก มีสุขภาวะที่ดี หลักสูตรสาธารณสุขในปัจจุบัน จึงมีการสอนในเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ, วิชานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ กระบวนการเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลจากการทำงานของ สช. ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies) ทุกนโยบายที่เกิดขึ้นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ไม่เพียงแต่จะเน้นด้านเศรษฐกิจ เพียงอย่างเดียว บทบาทของ  สช. จึงร่วมมือกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย และภาคประชาสังคม ชาวบ้านทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดความเข้าใจรับรู้แง่มุมปัญหาต่างๆ  และความรู้สึกร่วมที่ปรารถนาดีต่อกัน   

 

 ที่สำคัญคือเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA  เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้ง  เป็นการสะท้อนว่าบทบาทจากภาควิชาการจะมีส่วนให้เสริมพลังและให้อำนาจประชาชน (empowerment) การเชื่อมประสานระหว่างภาครัฐ ทำให้การเกิดความขัดแย้งหรือลดแบ่งขั้วลง เกิดสมดุลในการนำเสนอข้อมูล  วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา แสวงการหาทางเลือกที่เหมาะสม ให้ข้อมูลที่ได้ส่งต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นประโยชน์และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้

 

พร้อมกันนั้น ศ.ดร.วงศา ยังกล่าวแชร์ประสบการณ์ในเวที Panel discussion “Climate Change and Impact on Human Health in GMS” ในประเด็นการพัฒนาความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และการนำกระบวนการดังกล่าวมาพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ จากกรณีผลกระทบจากโรงงานยางพารา และโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วยเครื่องมือ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA” จึงได้รับความสนใจ เพราะเป็นกระบวนการที่สามารถต่อยอดสร้างเครือข่ายขยายความร่วมมือ โดยมีการเสนอให้มีการจัดเวิร์คชอปทั้งในประเทศและร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปีหน้า ‘15th ICPH-GMS: 2025’ จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยการแพทย์คุณหมิง  Kunming Medical University เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

2

 

 

เขียน : นภาพร แจ่มทับทิม