- 100 views
สช.จับมือหน่วยงานภาคีเครือข่ายรวม 8 องค์กร ร่วมกันประกาศ “ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.2566” ทั้งตัวธรรมนูญแม่บท-ระดับเขต-ระดับโรงเรียน มุ่งบูรณาการขับเคลื่อนด้านสุขภาวะ สู่พระสงฆ์-สามเณร-เจ้าหน้าที่กว่า 3.4 หมื่นรูป/คนทั่วประเทศ หวังส่งเสริมศาสนทายาทมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2566 คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่ายรวม 8 องค์กร ร่วมกันทำพิธีประกาศธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.2566 ณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ สามเณร บุคลากรในโรงเรียน ชุมชน และสังคม ในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
สำหรับภาคีความร่วมมือทั้ง 8 องค์กร ที่ประกอบด้วย สช. สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกันประกาศธรรมนูญฯ ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ “ธรรมนูญแม่บทโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา” “ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับเขต” จำนวน 14 เขต และ “ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับโรงเรียน” จำนวน 407 โรง
พระเทพเวที, รศ.ดร. รองอธิการบดี มจร ในฐานะประธานในพิธี เปิดเผยว่า ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ นับเป็นข้อตกลงร่วมหรือกติกาที่เป็นเจตจํานงและพันธะร่วมของพระสงฆ์ สามเณร และภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั้งในระดับเขตและระดับโรงเรียนที่มีอยู่กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ โดยมีสามเณร พระสงฆ์ และเจ้าหน้าที่การศึกษารวมกว่า 3.4 หมื่นรูป/คน ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและเป็นองค์รวม
พระเทพเวที กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ จะเดินหน้าสอดคล้องตามกรอบเป้าหมายของ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. พระสงฆ์ สามเณร กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย 2. ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ สามเณร ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย 3. บทบาทพระสงฆ์ สามเณร ในการเป็นผู้นําด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม
“โรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ก็เปรียบเหมือนกับโรงเรียนมัธยม แต่เด็กจะเข้ามาบวชเรียนในฐานะของสามเณร ซึ่งมีทั้งการเรียนการสอนตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน กับส่วนที่เสริมเข้ามาคือการศึกษาหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่เรียกว่านักธรรมบาลีด้วย ซึ่งธรรมนูญฯ จะเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องของสุขภาวะของสามเณร และบุคลากรเจ้าหน้าที่ ทั้ง 4 มิติ คล้ายกับหลักการของภาวนา 4 ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะทางกาย จิต สังคม และปัญญา” พระเทพเวที กล่าว
ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานภาคีความร่วมมือทั้ง 8 องค์กร มีจุดตั้งต้นจากการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การสร้างสุขภาวะโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ซึ่งทุกหน่วยงานล้วนเห็นความสำคัญของสุขภาวะของพระสงฆ์และสามเณร จนเกิดเป็นธรรมนูญฯ ทั้ง 3 ระดับที่ประกาศครั้งนี้ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไป
“นอกจากการเกิดธรรมนูญฯ ทั้ง 3 ระดับนี้แล้ว ก้าวสำคัญจะเป็นการขับเคลื่อนเพื่อให้เป้าหมายที่เราร่วมกันลงนามนี้เดินหน้าต่อไปได้ตามเป้า เป็นสิ่งที่แต่ละภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันในการขับเคลื่อนต่อ ถือเป็นพันธสัญญาที่ สช. จะสานพลัง รวมกำลังจากทุกหน่วยงานมาช่วยกันต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว
ด้าน พระราชวัชราภรณ์ ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กล่าวว่า การศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ถือเป็นการสนองงานของพระสงฆ์ที่ให้เยาวชนเข้ามาบวชเรียน เพื่อสร้างศาสนทายาทให้แก่พระพุทธศาสนา ฉะนั้นเรื่องสุขภาพจึงมีความสำคัญกับผู้ที่จะดำรงตนในฐานะศาสนทายาทนี้ และการเข้ามาช่วยกันสนับสนุนของญาติโยม ก็ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเสริมภิกษุ สามเณร ให้มีสุขภาวะที่ดีได้
พระราชวัชราภรณ์ กล่าวว่า ธรรมนูญฯ ที่ร่วมกันประกาศในครั้งนี้ จะถือเป็นธรรมนูญแม่บทให้โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ต่อยอดไปสู่การบูรณาการเรื่องของสุขภาวะเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งจะกลายเป็นความยั่งยืนให้สามเณรรุ่นต่อไปได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพ อันจะเป็นประโยชน์ที่สำคัญต่อพระพุทธศาสนาต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141