สช.ชวนภาคีสางปัญหา ‘ความรุนแรงจากอาวุธปืน’ ลุยจัดสมัชชาฯ ทำข้อเสนอแก้เชิงระบบ ‘ระดับชาติ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

สช. เตรียมชักชวนภาคีเครือข่ายร่วมกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะสางปัญหา “ความรุนแรงจากอาวุธปืน” จ่อตั้งวงวิชาการทบทวนสถานการณ์ในไทยและประสบการณ์การแก้ไขปัญหาของต่างประเทศ สังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ใช้ได้จริง ผ่านกระบวนการสมัชชาฯ ที่มีส่วนร่วม เปลี่ยนจากความสูญเสียเป็นร่วมหาฉันทมติและทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแก้ปัญหาเชิงระบบร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืนก่อเหตุกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565 จนมีเด็กเล็กและผู้เสียชีวิตอื่นรวมกว่า 37 ราย ตลอดจนอีกหลายเหตุการณ์ในอดีต อาทิ การใช้อาวุธสงครามกราดยิงในศูนย์การค้า จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าจะหยุดความรุนแรงและเสียหายจากอาวุธปืนได้อย่างไร  และจากข้อมูลสถิติขององค์กรวิจัย Small Arms Survey (SAS) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า มีคนไทยมากกว่า 10.3 ล้านคนครอบครองอาวุธปืน ซึ่งเป็นปืนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายราว 6.2 ล้านกระบอก ขณะที่อีกกว่า 4.1 ล้านกระบอกเป็นปืนเถื่อน และพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ ของโลกที่มีการทำร้ายหมู่จากอาวุธปืน ข้อมูลนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่กำลังขยายตัว จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขอย่างรีบด่วน
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


นพ.ประทีป กล่าวว่า นอกเหนือจากมาตรการเฉพาะหน้าในการเยียวยาครอบครัวของผู้ได้รับความสูญเสียแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความเศร้าสลดจาการสูญเสีย และใช้ความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงนี้ เป็นพลังในการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของข้อมูลและความรู้ และก่อตัวเป็นพันธสัญญาร่วมในการขับเคลื่อนเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้เกินกว่าจะกล่าวโทษใคร หรือทิ้งให้เป็นปัญหาภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “กระบวนการสานพลัง สร้างพันธสัญญาร่วมนี้ เป็นบทบาทโดยตรงของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ดังนั้น สช.จะชักชวนทุกฝ่ายเข้ามาร่วมจัดทำนโยบายและขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำกระบวนการทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดข้อเสนอเชิงระบบอย่างรอบด้านในการควบคุมการใช้อาวุธปืน และการลดความรุนแรงอื่นๆ ในสังคมไทย  เข้าสู่การพิจารณาและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคมปีนี้”  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธปืนตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ที่เป็นกฎหมายที่บังคับใช้มายาวนานกว่า 75 ปี ซึ่งมีหลายมิติที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่  และนอกเหนือจากมิติทางกฎหมายที่ถือเป็นอำนาจแข็งแล้ว การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องใช้อำนาจอ่อนร่วมด้วย คือการผสานความร่วมมือของหลายฝ่ายเข้ามาช่วยกันจัดทำนโยบายฯ และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งการเปิดพื้นที่ถกแถลงของ สช. ในครั้งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ทบทวนวรรณกรรม งานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นข้อเสนอที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขเชิงระบบได้
 

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ


“ข้อเสนอที่ได้ จะไม่ใช่การสั่งการว่าใครต้องทำอะไร แต่จะเป็นข้อมูลเชิงวิชาการที่ฉายภาพให้เห็นมิติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของปัญหาปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง หรืออะไรคือจุดเปราะบางของประเทศไทยจากมุมมองต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งข้อเสนอที่ผ่านกระบวนการสมัชชาฯ ทั้งหมดนี้ จะกลายเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน เพราะนี่จะเป็นนโยบายที่ทุกภาคีในประเทศไทยที่เห็นปัญหาร่วมกัน ร่วมกันจัดทำ และร่วมกันขับเคลื่อน” นายชาญเชาวน์ กล่าว

การสานพลังทุกภาคส่วนผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผอ.สำนักงานแผนงานกองทุนศตวรรษ์ที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอไว้เมื่อวันที่ 9 ตค. หลังเหตุกราดยิงที่ศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ว่า การสร้างให้เกิดความตระหนักในเรื่องนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนธันวาคม ถือเป็นการสร้างโอกาส ด้วยวิกฤตดังกล่าวเป็นปัจจัยนำเข้าและภาวะแวดล้อมเกื้อหนุนให้เกิดการเห็นความสำคัญปัญหาจากภาคีสมาชิกจำนวนมาก และเป้าหมาย การก่อรูปความตระหนักของสังคมของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ คือ มติสมัชชาสุขภาพที่มีส่วนร่วมในเชิงสัญญะ ไม่เพียงมติที่เป็นลายลักษณ์อักษร สาระของมติที่ตอบโจทย์ปัญหานี้เป็นเรื่องไม่เกินพลังคิดของเครือข่ายภาคีจำนวนมากที่เป็นสมาชิกสมัชชา แต่ความตื่นตัวต่อปัญหาที่จะลงมือสร้างพันธสัญญาร่วมถือเป็นความสำคัญยิ่ง

 

รูปภาพ
ปืนเถื่อน