สร้างความเป็น ‘ปึกแผ่น’ ระหว่างคนรุ่นต่างๆ กับการ ‘ส่งมอบ’ ภารกิจให้กับคนรุ่นใหม่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

         สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ... วันที่ ๑๒ สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น นอกจากจะเป็น “วันแม่แห่งชาติ” แล้ว องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังได้กำหนดให้วันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันเยาวชนสากล” (International Youth Day) อีกด้วย การรณรงค์ในปีนี้ อยู่ภายใต้ธีม “Intergenerational Solidarity: Creating a World for All Ages” หรือวาระ “การสร้างความเป็นปึกแผ่นระหว่างคนรุ่นต่างๆ เพื่อทำให้โลกใบนี้เป็นโลกที่น่าอยู่ของคนทุกกลุ่มวัย” ซึ่งสอดรับกับหลักการสำคัญใน “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓” และสอดคล้องกับ กรอบประเด็นหลักในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๕-๑๖ ของปีนี้และปีหน้า

         สำหรับ Youth Day ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ได้กลายมาเป็นวาระสำคัญระดับโลก เนื่องจากเป็นวันที่เยาวชน-คนรุ่นใหม่ทั่วโลก ต่างร่วมกันแสดงออกถึงพลังที่จะมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของตัวเอง ผ่านการรณรงค์ การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ตลอดจนการพัฒนานโยบายสาธารณะในประเด็นต่างๆ

         
พลังของเยาวชน-คนรุ่นใหม่ หรือ “คนรุ่นถัดไป” ที่เข้ามามีส่วนร่วมหรือแสดงออกทางการเมือง จึงมีความหมายมากไปกว่าที่จะถูกมองว่าเป็นเพียง “Voter” ในการเลือกตั้ง หรือเป็นฝ่ายตรงข้ามที่ต้องถูกจับกุมคุมขังทางกายและความคิด

         ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สานพลังการทำงานร่วมกับเยาวชน-กลุ่มคนรุ่นใหม่มาโดยตลอด เนื่องจากหนึ่งในภารกิจของ สช. ก็คือการสร้างโอกาส เปิดพื้นที่กลาง เตรียมความพร้อม และส่งมอบภารกิจการพัฒนานโยบายสาธารณะให้กับคนรุ่นใหม่

         
ในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖ ถือเป็นการ “ขยับครั้งใหญ่” อีกครั้ง หลังจากที่ สช. ได้ชักชวนเครือข่ายคนรุ่นต่อไป (Next Generation) เข้ามาร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ ๑๕ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า “เครือข่าย Next Gen” ให้ความสำคัญและจะพัฒนานโยบาย “สุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น” หรือ Mental Health

         พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ นอกจากเรื่องพลังคนรุ่นใหม่-คนรุ่นถัดไปแล้ว เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา  สช. และภาคีองค์กรเครือข่ายยังได้จับกิจกรรมใหญ่อย่างน้อย ๒ กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในฐานะเครื่องมือตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ช่วยสร้างสมดุลของการพัฒนา คลี่คลายข้อพิพาทในพื้นที่ และสร้างทางเลือกการพัฒนานโยบายสาธารณะของหน่วยงานรัฐ

         เริ่มตั้งแต่งานประชุมวิชาการระดับชาติ “การประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” (HIA Forum) ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๕ ในหัวข้อHIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ ๘-๙ สิงหาคม ณ โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นการประชุมแบบลูกผสม มีผู้เข้าร่วมกว่า ๑,๕๐๐ ชีวิต โดยมีรองนายกรัฐมนตรี  อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานเปิดการประชุม

          ท่านรองนายกฯ ย้ำว่า กลไก HIA เป็นเครื่องมือที่หนุนเสริมให้ทุกภาคส่วนเกิดการสนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างครอบคลุม ส่วนตัวขอสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน HIA และเชื่อมั่นว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมพลังสร้างเครือข่ายทางสุขภาพที่มีความสมานฉันท์ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป

          ถัดมาเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมขับเคลื่อนสิทธิที่เกิดขึ้นทันทีโดยธรรมชาติของคนทุกคนบนโลกใบนี้ สิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ “สะอาด เป็นมิตรกับสุขภาพ และยั่งยืน” ซึ่งองค์การสหประชาชาติเพิ่งประกาศรับรองให้เป็น “สิทธิมนุษยชน” เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิทธิมนุษยชนใหม่นี้สัมพันธ์โดยตรงกับ “สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่ถูกกำหนดอยู่ในมาตรา ๕ ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงาน HIA อย่างเป็นเนื้อเดียว

          แน่นอนว่า สช. จะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อย่างจริงจัง โดยเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคม ผู้บริหารของ สช. และ กสม. ได้หารือเตรียมการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าในการสนับสนุนการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๑ ที่ กสม. จะจัดขึ้นในวันที่ ๑ - ๒ กันยายนนี้ และมี ๕ ประเด็นย่อย ได้แก่ การอุ้มหาย, สถานะบุคคลด้านสัญชาติ, สิทธิในสิ่งแวดล้อม, โควิด-19 กับกลุ่มเปราะบาง, ความหลากหลายทางเพศภาวะ

         
พร้อมกันนี้ ยังอยู่ระหว่างจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เกี่ยวกับการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในไทยตามสิทธิมนุษยชนใหม่ และสิทธิการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ตามมาตรา ๕ และการเรียนรู้และพัฒนาบทบาทร่วมกันระหว่าง สช. และ กสม. ในเวทีระหว่างประเทศต่อไป

          
สุดท้ายนี้ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี ๒๕๖๕ โดย สช. ได้ ๙๑.๓๙ คะแนน เพิ่มจากปีที่แล้ว ๐.๖๗ คะแนน อยู่ในระดับ A ขณะที่หน่วยงานรัฐทั้งหมด ๘,๓๐๓ แห่ง คะแนนภาพรวมเฉลี่ยอยู่ที่ ๘๗.๕๗ คะแนน

รูปภาพ