รมว.อนุทิน เปิดประชุม HIA Forum ปี 65 ชูเป็นกลไกสำคัญตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

‘รมว.อนุทิน’ เปิดประชุมวิชาการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ “HIA Forum” ปี 2565 ชูเป็นกลไกสำคัญตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ช่วยดูแลสุขภาพคนไทยตามหลักสิทธิมนุษยชน ด้านวงเสวนาตอกย้ำบทบาทท้องถิ่น ผนึกพลังทางวิชาการ ร่วมยกระดับพัฒนาสุขภาวะคนในสังคมได้อย่างยั่งยืน
 

อนุทิน ชาญวีรกูล


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ.2565 ภายใต้หัวข้อ “HIA สู่การสร้างสังคมสมานฉันท์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในระหว่างวันที่ 8-9 ส.ค.2565 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษและเปิดการประชุม

อนุทิน ชาญวีรกูล

นายอนุทิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะจากภาคประชาชน เข้ามาผลักดันการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศมากมาย รวมถึงกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ Health Impact Assessment (HIA) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเกิดการสนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างครอบคลุม

“ต้องขอสนับสนุนการขับเคลื่อนงาน HIA และเชื่อมั่นว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรวมพลังสร้างเครือข่ายทางสุขภาพที่มีความสมานฉันท์ เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุม HIA Forum ถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ พร้อมพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายและบุคลากรของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้การขับเคลื่อน HIA ของไทยมีการพัฒนาให้กว้างขวางมากขึ้น และเป็นโอกาสในการสนับสนุนการขับเคลื่อน หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2564 ซึ่ง คสช. ได้ประกาศใช้เมื่อเดือน พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ให้เกิดพลังผลักดันไปสู่การปฏิบัติ ผ่านการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายต่างๆ ต่อไปในอนาคต
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


สำหรับการจัดประชุมวิชาการนี้ มีเป้าหมาย 3 ด้าน คือ 1. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ จากการปฏิบัติการ HIA และงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบทเรียนการดำเนินงานในระดับต่างๆ 2. เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการใช้ HIA ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการในระดับต่างๆ 3. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเครือข่าย HIA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการประสานงาน และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต

“ตลอดระยะเวลา 15 ปีของการขับเคลื่อน HIA ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และทำให้ HIA เติบโตขึ้นในสังคมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการประเมินหรือคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม รวมทั้งสร้างทางเลือกและประเมินทางเลือกในการลดผลกระทบทางลบ เพิ่มผลกระทบทางบวก อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของผู้คนและสังคมในระยะยาว นับเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามพันธะที่ประเทศไทยมีต่อองค์การสหประชาชาติ” นพ.ประทีป กล่าว

ศ.ดร.วงศา เล้าหศิริวงศ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในฐานะประธานอนุกรรมการจัด HIA Forum กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้มีความร่วมมือกับ สช. และเครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Consortium) ทั้งในภาคอีสาน และภูมิภาคต่างๆ ในการร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อน HIA ทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ การจัดการงานวิจัย การสนับสนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ด้านการทำ HIA ตลอดจนส่งเสริมการนำกระบวนการ HIA ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในระดับต่างๆ
 

วงศา เล้าหศิริวงศ์


ศ.ดร.วงศา กล่าวว่า การสนับสนุนการดำเนินงาน HIA ที่ผ่านมา ได้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น การศึกษาประเด็นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ จนสามารถยกระดับเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน ซึ่งได้นำเสนอต่อ คสช. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาควิชาการ ในการใช้องค์ความรู้สนับสนุนการดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชน
 

วงศา เล้าหศิริวงศ์


“ผู้บริหาร บุคลากรของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจ จะเข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ โดยใช้ HIA เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสุขภาพ และสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ ม.ขอนแก่น ได้รับเกียรติจากภาคี HIA Consortium ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งนี้” ศ.ดร.วงศา กล่าว

ขณะที่ นายกิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้กล่าวในเวทีเสวนา เรื่อง “โอกาสและความท้าทาย: ทิศทางการขับเคลื่อน HIA ของหน่วยงาน ภาคียุทธศาสตร์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้หลักเกณฑ์ HIA ฉบับที่ 3” ระบุว่า ได้ประสานความร่วมมือ และบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ในด้านบริการสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยมุ่งไปที่ประเด็นการแก้ไขปัญหา 5 ด้าน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านการศึกษา 3. ด้านรายได้ของประชาชน 4. การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ และ 5. ด้านการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ซึ่งทุกด้านจะให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุข เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต และสุขภาวะของประชาชนในทุกด้าน และงานด้านสาธารณสุขยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ สถ. และของประเทศ ที่จะสร้างความมั่นคงทางสุขภาวะให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

“การแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน จะแก้ได้ตรงกับปัญหามากที่สุดก็ต้องเป็นประชาชนในพื้นที่ ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สช. มีแนวทางการขับเคลื่อนและมีเครื่องมือในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนตัดสินใจนโยบายต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน โดยในส่วนของ สถ. ยังได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ นำองค์ความรู้ทางวิชาการมาปรับใช้ สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน รวมถึงนำงานวิจัยไปสร้างประโยชน์ในด้านการดูแล การบริการสุขภาพของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม”  นายกิตติพงษ์ กล่าว

ด้าน นายสมชาย ตู้แก้ว ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ทางกรมฯ ได้วางแนวทางการดูแลสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยใช้กลไกเชื่อมโยงการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งวางยุทธศาสตร์ดูแลสุขภาพไว้ที่ อปท. ที่เป็นหน้าด่านสำคัญของการดูแลประชาชน โดยกรมอนามัยทำหน้าที่สนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อไปดำเนินการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน
 

สมชาย ตู้แก้ว


“ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมอนามัยและ สถ. ได้ขยายความร่วมมือและร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกลุ่ม ทุกวัย และทุกท้องถิ่น โดยมีความร่วมมือเกิดขึ้นหลายด้าน อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่ายภาคประชาชนในท้องถิ่นด้วยกัน การร่วมกันพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพมากขึ้น รวมถึงพัฒนาความรู้ความเข้าใจของประชาชน” นายสมชาย กล่าว

HIA2565

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

รูปภาพ
HIA2565