ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง No one is safe until everyone is safe | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

       สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ประเทศไทยยังไม่สามารถเดินหน้าเข้าสู่การประกาศให้โรคโควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ตามแผนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อในภาพรวมยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา คาดว่าเฉลี่ยวันละ 2-3 หมื่นรายและอาจมีที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้ตรวจหรือไม่ได้รายงานอีกนับหมื่นรายต่อวัน ส่วนใหญ่จากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ซึ่งระบาดในหลายประเทศและได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว เพราะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดติดต่อได้ง่ายและเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นที่ผ่านมา แต่โชคดีที่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น ในไทยพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่หนัก หายเองได้ ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรังที่เรียกรวมกันว่ากลุ่ม 608  เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามที่กำหนด

       อยากย้ำให้พวกเรา “ยังคงต้องยกการ์ดสูงต่อไป” ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือสม่ำเสมอ รักษาความเข้มข้นในการป้องกันโรคในชีวิตประจำวัน นอกจากสามารถป้องกันโควิด-19 ได้อย่างดีแล้วยังป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดในบางประเทศได้ด้วย

       การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องทำ แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายประเทศไทย และสถานการณ์โควิด-19 ได้ตอกย้ำให้พวกเราเห็นถึงปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องสานพลังทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน “ถมช่องว่าง” ให้เต็ม โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเฉพาะที่เป็นกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งที่ผ่านมาเกือบ 3 ปีได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากที่สุด เป็นกลุ่มเปราะบางของสังคมไทยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบ ผ่านการออกแบบนโยบายสาธารณะบนความเห็นพ้องร่วมกันของทุกฝ่าย ยึดหลัก “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า "No one is safe until everyone is safe" หรือ “จะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”

       ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพและความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรเฉพาะ เป็นประเด็นที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)  เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น จำนวน 2 มติ ได้แก่ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ซึ่งทั้ง 2 มตินี้ เป็นไปเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยงทั้งต่อตัวเองและต่อสังคมโดยรวมมากที่สุด สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ รวมทั้งทำให้สังคมไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น

       ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะนี้ ยังสอดรับกับประเด็นหลักหรือธีมการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่15-16 ใน 2 ปีนี้ ที่กำหนดไว้ว่า “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาส และความหวังอนาคตประเทศไทย” และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ “เข็มทิศสุขภาพของประเทศ” นั่นคือธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่3 ที่กำหนดเป้าหมายสูงสุดคือการสร้าง “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

       ผมเห็นด้วยกับความตอนหนึ่งจาก “เรื่องจากปก” ในนิตยสารสานพลังฉบับนี้ ที่ได้รวบยอดความคิดเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า การเปิดประเทศจึงไม่ต่างไปจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้กลับมา “ลืมตาอ้าปาก” อีกครั้ง ฉะนั้นแล้วโจทย์ตัวใหญ่นับจากนี้ อาจไม่ใช่การเอาชนะ “สงครามโรค” แบบเบ็ดเสร็จ หากแต่เป็นการยอมรับ เข้าใจ และอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่าง “สมดุล” ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

       พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ มีอีกหนึ่งประเด็นที่ผมอยากจะแจ้งให้พวกเราทราบ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ได้มีมติที่ 48/13 “recognizing that a clean, healthy and sustainable environment is a human right” ซึ่งสอดคล้องกับ มาตรา5 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ”

       ระยะเวลาถัดจากนี้ สช.จะประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เพื่อศึกษาและขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนใหม่นี้ให้เดินหน้าเป็นรูปธรรมสู่สังคมสุขภาวะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงอยากเชิญชวนทุกท่านเดินหน้าไปด้วยกันครับ

รูปภาพ