เขตสุขภาพขยับ สมัชชาจังหวัดปรับทิศตาม | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
กลไกทำงาน


... บัณฑิต มั่นคง

กระแสสังคมยังโฟกัสอยู่ในเรื่องการอยู่ร่วมกับโควิดที่ยังมีการแพร่ระบาดไม่หยุดหย่อน แม้หลายภาคส่วนจะร่วมกันยกระดับเป็นพลังพลเมืองที่ตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด แต่ก็ยังมีประเด็นนโยบายสาธารณะอื่นที่เป็นเรื่องร่วมของพื้นที่ เช่น การรับมือกับหมอกควันไฟป่า อากาศสะอาด PM 2.5 ก็เริ่มคุกรุ่นในภาคเหนือ อีสาน ความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนก็กลับมาร้อนแรงในสังคม ระบบรองรับสังคมสูงวัยก็เป็นภัยคุกคามทั้งสังคมไทย

ประเด็นร่วมทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะแก้ไขด้วยลำพังเพียงหน่วยงาน-องค์กรเดียว การรวมพลังเป็นกลไกเชื่อมประสานในแต่ละระดับจึงมีความสำคัญยิ่ง

เฉกเช่น กลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ที่เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือเพื่อร่วมกันวางประเด็นยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนในเขต ซึ่งในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๕ ที่ผ่านมามีการจัดเวทีปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันวิเคราะห์เกาะติดสถานการณ์และหารือการขับเคลื่อนงานสุขภาวะของประชาชนในเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เพื่อปักธงให้ กขป. เป็นเสมือนเส้นด้ายแนวนอนที่ทำหน้าที่เชื่อมร้อยเส้นด้ายแนวตั้ง คือประสานกับหน่วยงาน องค์กรและเครือข่ายทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะและกำหนดทิศทางของระบบสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่ ตามเจตนารมณ์ที่จัดตั้งจริงๆ

ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีข้อเสนอสำคัญ เช่น การขยับขับเคลื่อนงานในระดับยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น การกำหนดวาระร่วมของทั้ง ๑๓ เขต เช่น การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ การเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพชุมชน อุบัติเหตุบนท้องถนน การขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนการทำงาน สานพลังระหว่างภาครัฐและภาคอื่นๆ เชื่อมโยงและยกระดับเป็นประเด็นร่วมในระดับประเทศที่แท้จริง

ในขณะเดียวกันในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มีการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ ว่าด้วย บทบาทที่ท้ายของการเป็นกลไกและพื้นที่กลางการสร้างสุขภาวะของสังคมด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด ซึ่งพบว่ามีหลายจังหวัดที่มีความพร้อมยกระดับจากการสร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะของคนจังหวัด เช่น สงขลา ลำปาง เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ ขอนแก่น เป็นต้น
 

กขป.

 

สมัชชาสุขภาพจังหวัด


นอกจากนี้ ยังมีความเห็นสำคัญต่อการร่วมกันทบทวนทิศทาง เป้าหมายและแผนงานสำคัญของกระบวนการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ การหนุนช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19 การวางจังหวะจัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อหาฉันทมติและนำเสนอรูปธรรมความสำเร็จในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ พร้อมกันทั่วประเทศ

ประเด็นปัญหาด้านสุขภาพ มีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ดังนั้นการทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีคงไม่สามารถปล่อยเป็นหน้าที่ของใครหรือหน่วยงานใดเพียงแห่งเดียว จึงต้องร่วมมือกันขยับในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับอำเภอ จังหวัด เขต และระดับประเทศ จึงจะทำให้เกิดการเชื่อมร้อย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบไปด้วยกัน

 

หมวดหมู่เนื้อหา