จากสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สู่การต่อยอด สร้าง ‘สังคมสุขภาวะดี’ ทั่วไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

           สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน ขณะนี้ประเทศไทยของเรากำลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งอีกครั้ง ตั้งแต่การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และที่เพิ่งผ่านพ้นไปคือการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. จ.ชุมพร จ.สงขลา และ ส.ส.เขตหลักสี่-จตุจักร กรุงเทพมหานคร (กทม.)

           ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศความชัดเจนว่า ภายในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ จะมีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” อย่างแน่นอน สอดรับกับการเปิดตัวของ “ว่าที่ผู้สมัครฯ” ทั้งในนามอิสระและสังกัดพรรคการเมืองที่ขณะนี้ได้ลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก ซึ่งหากมองภาพกว้าง อาจพูดได้ว่าประเทศไทยกำลังอยู่ใน “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” คือมีผู้บริหารท้องถิ่น-กทม. ชุดใหม่เข้ามาร่วมผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับพี่น้องประชาชนมากครับ

            การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จึงอยู่ในความสนใจและกลายมาเป็นวาระทางสังคมที่ทุกคนจับตามอง โดยเฉพาะวิสัยทัศน์และนโยบายที่ว่าที่ผู้สมัครฯ แต่ละรายนำเสนอ ซึ่งแน่นอนว่าในหลายประเด็นจะมีลักษณะร่วมของทั้ง กทม. และท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่ของผู้คน คุณภาพชีวิต การรับมือกับสังคมสูงวัย ตลอดจนผลพวงจากอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำลงจนเกิดความไม่สมดุล ฯลฯ

            สำหรับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ปีที่ผ่านมาเราได้จัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ โดยภาคีเครือข่ายหลากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันถกแถลง พิจารณา และให้ข้อเสนอแนะกันอย่างแหลมคม จนที่สุดสามารถบรรลุผลเป็น ๒ มติสมัชชาฯ กทม. ที่ได้รับฉันทมติจากที่ประชุม ประกอบด้วย ๑. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน ๒. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ ขณะเดียวกันเรายังได้ร่วมกับ กทม. ในการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต พื้นที่ กทม.” ที่จะนำไปใช้แก้ไขปัญหาและคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยเบื้องต้นเกิดเป็นรูปธรรมแล้วใน ๑๒ เขตนำร่อง

            ทั้งมติสมัชชาฯ กทม. และ ธรรมนูญฯ เขตพื้นที่ กทม. นั้น ล้วนแต่เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยมีหัวใจอยู่ที่ “กระบวนการการมีส่วนร่วม” ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ กทม. เมืองที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน แตกต่าง หลากหลาย และเป็นสิ่งที่ว่าที่พ่อเมืองคนใหม่ควรนำไปปรับใช้ประกอบการจัดทำนโยบาย เพื่อนำพา กทม. ไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะดีอย่างแท้จริง

            ในส่วนของ “นิตยสารสานพลัง” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์เล่มนี้ กองบรรณาธิการได้คัดสรรเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาวะสำคัญของ “ชุมชนเมือง” โดยอาศัยบรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาเป็นตุ๊กตาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผมจึงขอเชิญชวนพี่น้องภาคีเครือข่ายทั่วประเทศติดตามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อต่อยอดความคิดไปสู่การพัฒนาในทุกๆ พื้นที่ไปพร้อมๆ กันครับ

            สุดท้ายนี้ ผมขอประชาสัมพันธ์ช่องทางการสื่อสารใหม่ที่ สช. คาดหวังให้เป็น “พื้นที่กลาง” ที่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศจะเข้ามาร่วมกันเป็นเจ้าของ ร่วมกันสร้างและร่วมกันใช้ประโยชน์ นั่นคือแฟนเพจ Facebook “Healthstation สถานีกลางสุขภาวะ” และเว็บไซต์ https://main.healthstation.in.th ที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ข่าวสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม การสานพลัง และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในทุกระดับและทุกประเด็น ฉะนั้นหากพี่น้องภาคีเครือข่ายมีประเด็นที่น่าสนใจ สามารถติดต่อผ่านทาง Inbox แฟนเพจ Facebook “Healthstation สถานีกลางสุขภาวะ” ได้เลยครับ

รูปภาพ