- 326 views
คจ.สช. เคาะ 3 ระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 แล้ว “สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน-การเข้าถึงบริการกลุ่มประชากรเฉพาะ-การจัดการการสื่อสารในวิกฤต” ขณะที่ นพ.ประทีป ระบุ จุดเด่นของงานคือการขยายการมีส่วนร่วมครั้งใหญ่
ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธาน คจ.สช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ 3 ร่างระเบียบวาระ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค. 2564 ณ ห้องประชุมใหญ่ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร (กทม.)
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19 โดยวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งทิศทางการพัฒนานโยบายสาธารณะ ต้องบูรณาการเชิงระบบ โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการจัดการขยะ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว การพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างมีสุขภาวะ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดเครือข่ายพลังพลเมือง ในการสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม โดยนโยบายสาธารณะนี้มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤติ ประชาชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เท่าเทียม ทั่วถึง อย่างเป็นธรรม ตามหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และมีหลักประกันในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ไม่ประสบภาวะล้มละลายจากความเจ็บป่วย ตลอดจนได้รับการเยียวยาตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นกลุ่มประชากรเฉพาะ เพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย
3. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ โดยมียุทธศาสตร์การสื่อสารที่เป็นระบบอย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส และเหมาะสมกับช่วงเวลา ด้วยความรับผิดชอบ และด้วยภาระรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของทุกฝ่าย มีความสำคัญอย่างยิ่งในอันที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง อันจะส่งผลให้สังคมไทยผ่านพ้นวิกฤตสุขภาพไปได้โดยเร็วที่สุด
สำหรับร่างระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพฯ เปรียบได้กับ “วาระสุขภาพของประเทศ” ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นต้องจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเพื่อใช้แก้ปัญหา
ทั้งนี้ สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ อันประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายจากพื้นที่ทั่วประเทศ กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน และเอกชน กลุ่มเครือข่ายภาควิชาการ วิชาชีพ กลุ่มเครือข่ายภาครัฐ การเมือง ตลอดจนกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นนั้นๆ จะร่วมกันแสดงความคิดเห็น พิจารณา และให้ฉันทมติร่วมกันในงานสมัชชาสุภาพฯ ก่อนจะเสนอต่อไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาสนับสนุนการจัดงาน เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 คาดว่าสามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้มากกว่า 1 แสนราย
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของปี 2564 จะมีการจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 ขึ้น ณ ห้องประชุมใหญ่ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ ภายใต้ประเด็นหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ซึ่งเป็นประเด็นหลักเดียวกับปี 2563 เนื่องจาก คจ.สช. มองว่า การกำหนดประเด็นหลักพร้อมกันทีละ 2 ปี จะช่วยให้มองปัญหาอย่างครอบคลุม รอบด้าน และมีจุดเน้นเพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่มากขึ้น
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในสมัชชาสุขภาพฯ ปีนี้ คือการขยายการมีส่วนร่วมให้กว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมา โดยจะมีสมาชิกทั้งประชาชนผู้ที่สนใจ กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วม
“ผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพฯ ในช่วงปลายปีนี้ จะมีทั้งสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จากกลุ่มเครือข่ายต่างๆ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และที่แปลกใหม่ที่สุดคือจะมีการขยายการมีส่วนร่วมไปยังกลุ่มเยาวชน ภาคเอกชน ตลอดจนประชากรกลุ่มเฉพาะให้เข้ามามีบทบาทในงานมากขึ้นด้วย” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า ในช่วงเดือนประมาณเดือน ก.ย. – พ.ย. 2564 ยังจะมีการจัด “มหกรรมสมัชชาสุขภาพจังหวัด” และ “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side events) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวกับการรับมือวิกฤตสุขภาพโดยมีเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะและกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือ ส่วนประเด็นของการจัดงานจะเป็นไปตามสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงกับธีมหลักของงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14
รายละเอียดเพิ่มเติม:
คุณยุวลักษณ์ เหมะวิบูลย์ กลุ่มงานสื่อสารสังคม โทร.086-373-5413