ผลักดัน ‘สิทธิในอาหาร’ บัญญัติในรัฐธรรมนูญ เคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ 13 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   คมส. เห็นชอบเดินหน้าขับเคลื่อน 2 มติสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 13 “ความมั่นคงทางอาหาร-การจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม” ออกแบบระบบรับมือโรคระบาดใหญ่ให้ดียิ่งขึ้น ผลักดัน “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขณะที่ สช. เร่งกระบวนการ พร้อมนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาโดยเร็ว
 
   ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 ซึ่งมี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองประธาน คมส. เป็นประธาน ได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและให้ความเห็นชอบ กรอบและแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 มติ 13.1 ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต และมติ 13.2 การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม: กรณีโรคระบาดใหญ่ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
 
   สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน มติ 13.1 ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต จะผลักดันให้มีการบัญญัติ “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่วมกับการกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความพร้อม และสามารถจัดการปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตได้ลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงผลักดันให้เกิดการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เพื่อรองรับภาวะวิกฤต
 
   นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เปิดเผยว่า เป้าหมายของมติดังกล่าวคือ ภายในปี 2568 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้ โดยจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนหลักการที่จะสร้างความมั่นใจว่าทุกคนจะมีอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม
 
   นอกจากนี้ องค์ประกอบของการพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต มีทั้งในด้านการผลิตอาหาร ด้านการสำรองอาหาร ตลอดจนด้านการกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมไปถึงเครือข่ายองค์กรชุมชน โดยนอกจากการดำเนินการในระดับนโยบายแล้ว ยังจะต้องทำให้เกิดความพร้อมด้านองค์ความรู้ และพัฒนาไปสู่การปฏิบัติต่อไป
 
   “แนวทางการพัฒนาระบบเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต จะมีตั้งแต่มาตรการควบคุมราคาสินค้าอาหาร การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบ จัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ กำหนดมาตรการทางภาษี จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นหรือธรรมนูญสุขภาพชุมชน จัดตั้งกลไกและระบบสำรองอาหารอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อให้ อปท.สามารถใช้งบประมาณและทรัพยากรในการแก้ปัญหา” นางทิพย์รัตน์ กล่าว
 
   ขณะที่แนวทางการขับเคลื่อน มติ 13.2 การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม: กรณีโรคระบาดใหญ่ จะมุ่งเป้าให้เกิดโครงสร้างในการบริหารจัดการภาวะวิกฤตระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาระบบข้อมูลที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ แก้ไขปัญหา และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันเมื่อเกิดผลกระทบแล้ว จะมีการเยียวยาทั้งในระดับรัฐลงไปสู่ระดับชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นพร้อมกับองค์ความรู้ที่สามารถใช้ได้ทั้งช่วงเฉพาะหน้าและในระยะยาว
 
   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนมติว่า ทิศทางหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาตั้งหลักพูดคุยว่าจะออกแบบระบบในการรับมือโรคระบาดใหญ่ที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร เช่น การทบทวน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่ออุดช่องว่างและทำให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การสร้างความเข้มแข็งของกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมถึงสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นอีกมิติหนึ่งให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนความทับซ้อนและปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะต้องออกแบบให้ราบรื่นที่สุดเมื่อเกิดภาวะวิกฤต
 
   “นอกจากนี้ สิ่งสำคัญยังเป็นการจัดการด้านข้อมูล ซึ่งทุกวันนี้พบว่าหลายหน่วยงานทำระบบโปรแกรมของตนเองมากมาย ทำไมในระดับประเทศไม่ทำให้เป็นเรื่องเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงกันได้ การใช้ประโยชน์ในระบบฐานข้อมูล Big Data ที่จะนำไปสู่การสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ของประชาชน หลังจากที่เราเผชิญกับข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ (infodemic) หรือปัญหาจากข้อมูลมหาศาลที่สร้างความคลาดเคลื่อนมากมาย ซึ่งในระยะยาวยังจะต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหา ออกแบบระบบต่างๆ โดยถอดบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
 
   ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ รวมถึงข้อชี้แนะต่างๆ ต่อแนวทางการขับเคลื่อนทั้ง 2 มตินี้ จะถูกนำไปปรับเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ปรับกระบวนการขับเคลื่อนทั้งหมดให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้มติสมัชชาฯในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
 
   “เมื่อเทียบกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติก่อนหน้านี้ ที่มักจะเข้าสู่ ครม. ในช่วงกลางปี เราจะเร่งกระบวนการนี้ให้เร็วมากขึ้น โดยจะประสานกับทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยติดตามมติดังกล่าว ควบคู่กับการประสานองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการเตรียมการที่จะขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความคืบหน้าตามมติ และมานำเสนอยังภาคีที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง” นพ.ประทีป กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
สิทธิในอาหาร
สิทธิในอาหาร
สิทธิในอาหาร
สิทธิในอาหาร
สิทธิในอาหาร