ส่งเสริมการลงทุนด้านสุขภาพ เน้นพื้นที่รายได้ต่ำ - ๔ จ.ชายแดนใต้ ย้ำต้องวางแผนกำลังคนก่อน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอวางกรอบส่งเสริมการลงทุนด้านสุขภาพ ย้ำต้องเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ห่างไกล ยากจน หรือชายแดน และต้องมีแผนจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ชัดเจน หวั่นปัญหาการแย่งบุคลากร พร้อมหนุนการขับเคลื่อนกฎหมายคุมกลยุทธ์การตลาดนมผง และเดินหน้ายุทธศาสตร์แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาระยะ ๕ ปี
 
   เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐ มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕/๒๕๖๐ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานกรรมการฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบและชื่นชมการทำงานร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้พัฒนาข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อส่งเสริมการบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นโจทย์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยการทำงานร่วมกันนี้ ได้นำหลักการด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๙ ที่กำหนดว่า “การลงทุนด้านสุขภาพต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพในภาพรวม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความมั่นคงด้านสุขภาพและประสิทธิภาพของการลงทุน” เป็นหลักสำคัญ และนำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ เพื่อให้การลงทุนด้านบริการสุขภาพเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ทำให้คนไทยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล รายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หนุนเสริมและไม่ซ้ำซ้อนกับการลงทุนที่มีอยู่แล้วของภาครัฐ
 
   สช. บีโอไอ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลทางวิชาการ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีการเจ็บป่วย มีความจำเป็นด้านสุขภาพสูง มีอัตราการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษานอกเขตพื้นที่สูง พื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาข้อมูลจำแนกรายเขตสุขภาพ โดยข้อเสนอฯ นี้ ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว สาระสำคัญของข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนหรือส่งเสริมการบริการสาธารณสุขในระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellence center) มีเงื่อนไขคือ ควรพิจารณาให้การสนับสนุนใน (๑) เขตบริการสาธารณสุขที่ไม่มีแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุขหรือภาคเอกชน หรือ (๒) เขตบริการสาธารณสุขที่มีแผนการลงทุนฯ อยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพแล้ว แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ (๓) เขตบริการสาธารณสุขที่มีการส่งต่อผู้ป่วยในเรื่องนั้นๆออกนอกพื้นที่ หรือ (๔) เขตพื้นที่เฉพาะพิเศษ/เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมของบุคลากรที่จะไปปฏิบัติงาน และสถานบริการที่ได้รับการส่งเสริมต้องให้บริการประชาชนในระบบประกันสุขภาพภาครัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ
 
   ต่อมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาและออกประกาศ เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านการบริการทางการแพทย์ เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ใน ๔ กิจการ ได้แก่ ๑.กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย ๒.กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ๓.กิจการสถานพยาบาล ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เฉพาะเพื่อกระจายการให้บริการอย่างทั่วถึงสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลใน ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือใน ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้และในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ๔.กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งทางอากาศ ทางบก เรือ
 
   เงื่อนไขการสนับสนุนประเภทกิจการ “ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง” ได้นำข้อเสนอจากการทำงานร่วมกันของ สช. บีโอไอ กระทรวงสาธารณสุข ไปปรับใช้ โดยให้ ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน ได้แก่ ด้านหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ และหัวใจล้มเหลว) ด้านมะเร็ง (เคมีบำบัด รังสีวิทยา) และด้านไต (ศูนย์ไตเทียม) โดยระบุเงื่อนไขว่า ต้องมีแผนการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีเครื่องมือและอุปกรณ์ตามที่คณะกรรมการกำหนด ต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องพิจารณาถึงการกระจายการให้บริการและการเข้าถึงของประชาชน ส่วนการส่งเสริม กิจการสถานพยาบาล นั้น ระบุเงื่อนไขพื้นที่ที่จะขอรับการส่งเสริมตามข้อเสนอ คือ พื้นที่ ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ พื้นที่ ๔ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา-เฉพาะ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย เทพา) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
 
   “การดำเนินการในกรณีนี้ เป็นรูปธรรมความสำเร็จของการนำ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และหลักการของ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไปปรับใช้ประโยชน์ให้เกิดระบบสุขภาพพึงประสงค์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ให้รัฐและเอกชนมีบทบาทเกื้อหนุนกันในการบริการสุขภาพ ไม่มุ่งแต่ภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังเอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยด้วย”
 
   พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ เรื่อง “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” ที่กรมอนามัยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแนวทางและมาตรการขับเคลื่อน พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.๒๕๖๐ ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ ๘ กันยายน ๒๕๖๐ โดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อประกาศแนวทางตามกฎหมายฯ ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ รวมถึงจะมีการรณรงค์ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีการจัดการสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป
 
   นอกจากนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ เรื่อง “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างเตรียมการจัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติงานการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔ และเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเดินหน้าแผนปฏิบัติงาน วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ทำให้เรื่องนี้ขับเคลื่อนในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ