กระตุ้นคนไทยเลิกพฤติกรรม “เนือยนิ่ง” เตรียมสตาร์ทประเด็น “กิจกรรมทางกาย” เคลื่อนใหญ่ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   คจ.สช. เคาะประเด็นส่งเสริมกิจกรรมทางกายเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ เรียกความร่วมมือภาคีเครือข่าย หวังให้คนไทยเลิกพฤติกรรมเนือยนิ่ง ลดโรค NCDs
 
   เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ มี การประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ.๒๕๖๐ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๐ โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน เพื่อเตรียมการจัดงานและประเด็นเนื้อหาสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ ที่จะจัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๐ ภายใต้ประเด็นหลัก “๑๐ ปี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ สู่สังคมสุขภาวะ”
 
   นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๖๐ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะนำประเด็น “การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น” เข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อหาฉันทามติจากทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายให้เกิดรูปธรรมการขับเคลื่อนอย่างจริงจังให้ประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยมี “กิจกรรมทางกาย” (Physical activities) หรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสม เลิกมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง มากกว่าการมุ่งส่งเสริมไปที่การออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือต้องใช้แรงเท่านั้น
 
   นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกาย เพราะพบว่าโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases: NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ที่คนไทยเป็นจำนวนมาก มีสาเหตุหลักมาจากการมีกิจกรรมทางกายน้อยเกินไป
 
   โดยแนวทางหลักจะมีการนำเสนอชุดข้อมูลความรู้ การพัฒนาขีดความสามารถของคน องค์กร และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม การสร้างพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ การส่งเสริมให้มีกระบวนการนโยบายสาธารณะทั้งในระดับชาติและพื้นที่ และที่สำคัญคือการปรับแนวคิดของคนไทยให้เห็นความสำคัญต่อการมีกิจกรรมทางกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายเท่านั้น เพื่อขับเคลื่อนให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรทางกายเพิ่มขึ้น และการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่าย และการพัฒนากลไกโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
 
   พญ.ประภา วงศ์แพทย์ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ย้ำว่าการขับเคลื่อนประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ต้องทำให้เกิดการรับรู้ว่าเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ รูปแบบที่สามารถทำได้ทุกสถานที่ และควรมุ่งส่งเสริมไปที่สถานประกอบการ เพราะคนวัยทำงานของไทยปัจจุบันกำลังเป็นโรคออฟฟิซซินโดรมหรือโรคจากการทำงานจำนวนมาก โดยต้องสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดช่วงเวลาให้พนักงานได้ยืดเหยียดร่างกายในสถานที่ทำงาน หากขยายในวงกว้างจะช่วยลดโรคไม่ติดต่อได้อย่างดี
 
   นายเกรียงไกร ชีช่วง ภาคประชาสังคม กล่าวว่า ต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับสังคมเกี่ยวกับการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมไปให้ถึงทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะปัจจุบันกำลังมีการสร้างการรับรู้ใหม่ ทำให้เกิดความเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น เกี่ยวกับการกินยาและอาหารเสริมเพื่อบำรุงและเสริมสร้างกล้ามเนื้อมากกว่าการเน้นออกกำลังกาย หรือการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่จำเป็น
 
   นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายแล้ว คจ.สช. จะมีการติดตามการพัฒนาประเด็นของภาคีเครือข่ายเรื่อง “การรองรับสังคมสูงวัยจากการเปลี่ยนแปลงประชากรด้านโครงสร้าง” รวมถึงประเด็นอื่นๆ เพื่อผลักดันเข้าสู่สมัชชาสุขภาพฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม จะมีการสรุปและประกาศระเบียบวาระเพื่อนำเข้าพิจารณาในสมัชชาสุขภาพฯครั้งที่ ๑๐ ครั้งสุดท้ายในวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐
 
   ด้าน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คือ กลุ่มเครือข่ายและภาคีที่เข้าร่วม โดยสมาชิกจากทุกภาคส่วนต้องมีความรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของประเด็น และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ถูกนำไปทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ