ดร. ศุภชัย ห่วง TPP ไม่ตอบโจทย์ประเทศไทย แนะอย่ารีบโดดร่วมวง ต้องศึกษารอบด้านก่อน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   อดีตเลขาธิการองค์การการค้าโลก (WTO) และ UNCTAD เผยความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP เป็นเพียงเกมการค้าของขั้วมหาอำนาจ แนะรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาผลได้-เสียอย่างรอบด้าน หลังพบไทยมีข้อตกลงทวิภาคีแล้วถึง ๙ จาก ๑๒ กลุ่มประเทศก่อตั้ง ควรผลักดันกรอบ AEC และ RCEP ให้แข็งแกร่งก่อน ด้าน คจคส. ห่วงการเข้า TPP อาจส่งผลกระทบต่อการผูกขาดสิทธิบัตรและการเข้าถึงยาของประชาชน
 
   คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจคส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ร่วมเป็นเจ้าภาพพร้อมด้วยกระทรวงสาธารณสุข, สปสช. และ สสส. จัดเวที การประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ประจำปี ๒๕๕๙ ภายใต้หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP): ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การสาธารณสุขและระบบสุขภาพ” ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ กรุงเทพฯ สีลม โดยมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ และผู้เข้าประชุมจากภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้แทนจากสถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมกว่า ๑๗๐ คน
 
   ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการ UNCTAD ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก: ความท้าทายหรือโอกาสสำหรับประเทศไทย” ว่า ระบบการค้าโลกที่ดี ต้องมีทิศทางให้ทุกประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เป็นสากล เปิดโอกาสให้กับทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศอื่นๆ ด้วย รวมทั้งควรยึดหลักการ ๑๗ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะใน ๓ ข้อหลัก ได้แก่ การขจัดความยากจน สร้างความอยู่ดีกินดี และสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับมวลมนุษยชาติ
 
   สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership: TPP) นั้น ดร.ศุภชัย มองว่า เป็นเกมการค้ารูปแบบใหม่ของขั้วมหาอำนาจ เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาเริ่มมีอำนาจการต่อรองในเวทีโลก จนประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถเจรจาความตกลงการค้าในกรอบ WTO ให้ได้ตามที่ประเทศมหาอำนาจต้องการอีกต่อไป จึงต้องจัดตั้งข้อตกลงการค้ารูปแบบใหม่ เช่น TPP และ T-TIP (Transatlantic Trade and Investment Partnership) ขึ้นมาเพื่อลดความสำคัญของ WTO ลง
 
   ปัจจุบัน ข้อตกลง TPP มีการลงนามของประเทศสมาชิกแล้วแล้วเมื่อต้นปี ๒๕๕๙ มีประเทศภาคีสมาชิกเข้าร่วม ๑๒ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ชิลี เม็กซิโก เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งอดีตเลขาธิการ UNCTAD มองว่า ในจำนวนนี้ ประเทศไทยได้มี ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ร่วมกับ ๙ ประเทศสมาชิก TPP อยู่แล้ว ยกเว้นเพียง ๓ ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งมูลค่าการค้าของไทยกับ ๓ ประเทศนี้รวมกันประมาณร้อยละ ๑๐ ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมเท่านั้น
 
   “ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการทำ FTA กับ ๙ ประเทศสมาชิก TPP อยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ทำข้อตกลงกับอีก ๓ ประเทศ ก็ไม่เชื่อว่า TPP จะทำให้มูลค่าการค้าของไทยกับทั้ง ๓ ประเทศจะหายไปทั้งหมด และไม่ควรกังวลถึงผลกระทบเรื่องการลงทุนหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงขณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเพียงประเทศเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลกจากราคาน้ำมันเป็นสำคัญ ไม่เกี่ยวข้องกับ TPP”
 
   ดร. ศุภชัย ได้ให้คำแนะนำประเทศไทยในการพิจารณาที่จะเข้าร่วมข้อตกลง TPP ไว้ว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนลงนามเข้าร่วม TPP เพราะกลัวตกขบวนเท่านั้น โดยมีข้อสังเกตสำคัญที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง ๕ ประการคือ ๑)ขณะนี้การศึกษาผลได้ผลเสียจาก TPP ยังไม่ชัดเจน ๒)ต้องศึกษาเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีอย่างรอบคอบเพราะมีการใช้มากในTPP ๓)มีเพียง ๓ ประเทศใน TPP ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อตกลง FTA ด้วย ๔)ต้องศึกษาว่าเหตุใดภาคเอกชนไทยจึงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อตกลง FTA ที่มีอยู่แล้วให้ได้ประโยชน์มากเท่าที่ควร และ ๕)เชื่อว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศสมาชิก TPP ยังไม่สามารถลงนามให้สัตยาบันได้ภายใน ๒-๓ ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน
 
   “รัฐบาลไทยต้องฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน และศึกษาวิจัยถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ควบคู่กับผลเสียที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งพยายามผลักข้อตกลงที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ในปัจจุบันให้แข็งแกร่งเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น ข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หรือ ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ๑๐ ประเทศอาเซียน กับคู่ภาคีที่มีอยู่ ๖ ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อย่ารีบร้อนหรือข้ามขั้นไปเข้าร่วม TPP เพราะจะเป็นเหมือนกับการเรียนประถมและข้ามชั้นไปเรียนในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ สุดท้ายความเสียหายก็จะเกิดขึ้น”
 
   ด้าน นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา คจ.คส. ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพปี ๒๕๕๙ กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความคิดเห็นในเวทีประชุมวิชาการฯ ตลอด ๓ วันที่ผ่านมา ถือว่าได้แนวทางที่เป็นประโยชน์ โดยสรุปได้ว่า ความตกลง TPP มีความซับซ้อนมาก เพราะมีถึง ๓๐ ข้อบทที่ประเทศภาคีสมาชิกต้องดำเนินการตามนั้น และยังมีจดหมายแนบท้าย ภาคผนวก รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาผลได้ผลเสียจึงไม่สามารถพิจารณาเฉพาะข้อตกลง TPP อย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาโดยรวมทั้งหมด
 
   นพ. สุวิทย์ กล่าวว่า มูลค่าการค้า TPP ปัจจุบัน มีสัดส่วนถึง ๒ ใน ๓ ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดใหญ่ๆ เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญว่า การเข้าร่วม TPP จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นได้จริงหรือไม่ และสินค้าประเภทใดบ้าง เนื่องจากบางกลุ่มสินค้า เช่น ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วน ก็เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ ไม่ใช่ธุรกิจของไทย จึงต้องมีการวิเคราะห์ให้ชัดเจน และถ้าประเทศไทยไม่เข้าร่วม TPP จะต้องสูญเสียอะไรบ้าง เช่น การผูกขาดยาจากประเทศผู้ผลิต ที่อาจทำให้ราคายาแพงขึ้นและการเข้าถึงยาของคนไทยยากขึ้น จึงต้องมีการเตรียมการให้พร้อมก่อนตัดสินใจ
 
   “เราไม่ควรต่อรองบนพื้นฐานของความกลัวว่าจะสูญเสียศักยภาพการลงทุนหรือเศรษฐกิจตกต่ำ ถ้าไม่เข้าร่วม TPP เพราะการได้รับประโยชน์ยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่สูญเสียแน่นอนก็คือเรื่องการผูกขาดสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเจรจาได้ เพราะทั้ง ๑๒ ประเทศ ได้ตกลงไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสที่สมาชิกใหม่จะเปลี่ยนแปลงต้องให้สมาชิก TPP ยอมรับเท่านั้น และเมื่อลงนามเป็นภาคีแล้วจะยกเลิกระหว่างทาง ก็มีเงื่อนไขว่าประเทศสมาชิกสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ตรงนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ของไทย หากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ