‘เช็คก่อนแชร์’ เตือนอาจผิด พ.ร.บ.สุขภาพ โทษจำคุก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แนะผู้ใช้สังคมออนไลน์ตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลก่อนส่งต่อ โดยเฉพาะข้อมูลสุขภาพ นอกจากละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยังผิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ โทษปรับ/จำคุก
 
   วานนี้ (21 ธ.ค. 2558) ในงานเสวนา ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ณ อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันว่า ข้อมูลจำนวนมากที่ส่งต่อไม่ได้มีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแชร์ข้อมูลสุขภาพของผูู้อื่น โดยเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 7 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีใครถูกเอาผิดตามมาตรานี้ก็ตาม แต่การแชร์ข้อมูลสุขภาพของผู้อื่น เมื่อเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาต ถือเป็นการละเมิดสิทธิด้านสุขภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูลทั้งสิ้น
 
   ยกตัวอย่างการแชร์ข้อมูลการขอรับบริจาคเลือดที่มักส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ซึ่งมีกรณีหนึ่งเป็นการส่งภาพผู้ป่วยในสภาพป่วยหนัก โดยระบุชื่อ นามสกุล และโรคที่ป่วย พร้อมหมู่เลือดที่ขอรับบริจาค การส่งต่อข้อมูลดังกล่าวเป็นการส่งต่อข้อมูลเก่าเมื่อ 3 ปีมาแล้ว ทั้งที่ปัจจุบันผู้ป่วยหายจากโรคนี้ และโรงพยาบาลบอกเลิกรับบริจาคเลือดไปนานแล้ว
 
   “การละเมิดสิทธิในข้อมูลด้านสุขภาพของผู้อื่น ทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทุกอย่างเดินทางไปเร็วอย่างที่เราเรียกว่า ‘ไวรัส’ จนเราควบคุมไม่ทัน หลายครั้งที่เวลาเราไปเยี่ยมไข้แล้วถ่ายรูปผู้ป่วยเพื่อประกาศในโลกออนไลน์ว่าเรามาเยี่ยมผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ตัวผู้ป่วยเองอาจไม่ได้ต้องการให้ใครรู้ว่าเขาป่วย ไม่ได้ต้องการให้ใครเห็นเขาในสภาพที่ผิดไปจากตอนที่สุขภาพดี” นพ.อำพลกล่าว
 
   นพ.อำพล ยังระบุด้วยว่า บุคลากรทางการแพทย์ในฐานะที่เป็นผู้กุมข้อมูลสุขภาพของประชาชน ต้องระมัดระวังการใช้สื่อออนไลน์ ปัจจุบันมีหน่วยงาน/องค์กร ที่มีแนวปฏิบัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้ง สช. เองก็มีแนวปฏิบัติในเรื่องนี้เช่นกัน นอกจากนี้ เรากำลังพัฒนาไกด์ไลน์สำหรับบุคลากรด้านสุขภาพอยู่ เมื่อเสร็จแล้ว จะมีการเสนอต่อองค์กรวิชาชีพเพื่อนำไปใช้ตามความเหมาะสมต่อไป
 
   “ก่อนส่งทุกครั้ง ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง และข้อมูลดังกล่าวต้องไม่ละเมิดสิทธิด้านสุขภาพของบุคคลด้วย” นพ.อำพลกล่าวทิ้งท้าย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ