สช. จับมือ กรมการแพทย์ ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ: ยกร่างแนวทางตรวจสุขภาพเพื่อคนไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวที สช. เจาะประเด็น เดินหน้าหนุนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยเดือน ก.ย. นี้ ได้เห็นร่างแนวทางมาตรฐานตรวจสุขภาพของคนไทย ผนึกกำลัง ๓ กองทุน ทั้ง สปสช. ประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง วางหลักเกณฑ์พื้นฐานเพื่อให้สิทธิประชาชน เตรียมเสนอ รมว. สาธารณสุข และคณะรัฐมนตรี ขณะที่ นพ.วิวัฒน์ ชี้คนไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงระบบบริการตรวจสุขภาพ
 
   เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ ในหัวข้อ “เลือกแพ็คเกจตรวจสุขภาพอย่างไรให้คุ้มค่า” ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
 
   นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนใช้บริการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยสำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พบว่ามีประชาชนที่ใช้บริการตรวจสุขภาพแบบ “จ่ายเอง” มากกว่า ๕.๕ แสนคน คิดเป็นมูลค่า ๒,๒๖๐ ล้านบาท และใช้ระบบสวัสดิการข้าราชการรับบริการตรวจสุขภาพจำนวน ๑.๙ ล้านคน คิดเป็นมูลค่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท เมื่อรวมผู้ใช้บริการทั้งสองประเภท มียอดรวมผู้ใช้บริการตรวจสุขภาพ ๒.๕๕ ล้านคน คิดเป็นมูลค่า ๓,๘๖๐ ล้านบาท หรือเฉลี่ยค่าใช้จ่าย ๕๓๐-๑,๒๐๐ บาท/คน/ปี
 
   “ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ก็มีประชาชนในกลุ่มเสี่ยงโรคต่างๆ ได้มาขอใช้บริการตรวจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งแพทย์ของเรามีความพร้อมให้คำปรึกษาและให้บริการตรวจร่างกาย ตามความเหมาะสมของผู้มาใช้บริการให้มากที่สุด”
 
   สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ ได้มีมติเรื่อง “นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” โดยทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนตามกลุ่มต่างๆ โดยได้ตั้ง “คณะ กรรมการพัฒนาการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน” และได้จัดทำโครงการพัฒนาแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน เพื่อสร้าง แนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพของคนไทยขึ้น
 
   นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ในการพัฒนามาตรฐานการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับคนไทย มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมการแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานประกันสังคม, กรมบัญชีกลาง พร้อมด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา เรียกได้ว่าทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพเพื่อคนไทยครั้งนี้
 
   “แนวทางการตรวจสุขภาพที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน น่าจะร่างเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลต่างๆ เช่น สปสช. ประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ที่ดูแลสวัสดิการข้าราชการอยู่ ได้ร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง และจะเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็จะได้รายงานความ ก้าวหน้าในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ในเดือนธันวาคมนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบร่วมกันแล้วก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ต่อไป”
 
   สำหรับร่างแนวทางมาตรฐานการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชนไทยนี้ จะบอกถึงแนวทางในการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย ได้แก่ กลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น (แรกเกิด-๑๘ ปี), กลุ่มวัยผู้ใหญ่ (๑๘-๕๙ ปี) และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ (๖๐ ปีขึ้นไป)
 
   นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งหารายได้ด้วยการจัดแพ็กเกจตรวจสุขภาพหลายๆ รูปแบบ และใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จูงใจด้วยข้อความให้ซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพเป็นของขวัญแก่บุคคลในครอบครัว ทำให้ประชาชนสนใจซื้อบริการเป็นจำนวนมาก
 
   “จากการศึกษาวิจัยพบว่า รายการที่ตรวจส่วนหนึ่งเป็นการตรวจที่เกินความจำเป็น ไม่เหมาะสม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยไม่มีประโยชน์”
 
   อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ไม่มีโอกาสหรือเข้าไม่ถึงบริการตรวจสุขภาพ ทำให้ต้องเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันหรือรักษาได้ง่าย ถ้าพบก่อนในระยะเริ่มแรก เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน ตัวอย่างของโรคมะเร็งปากมดลูกที่เคยสำรวจพบว่า มีสตรีวัย ๓๕-๖๐ ปี ประมาณหนึ่งในสาม ไม่เคยรับการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้มาก่อน ทำให้ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า ๕,๐๐๐ คน และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละประมาณ ๓๕๐ ล้านบาท
 
   ดังนั้น ในการประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ ทางมูลนิธิหมอชาวบ้านและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวในการประชุมฯ ซึ่งผ่านฉันทมติเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแล้ว ในรายละเอียดของมติฯ นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ประกอบด้วยใน ๗ ประเด็นด้วยกัน อาทิ การกำหนดนโยบายหรือแนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม, การทบทวนและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของหลักประกันสุขภาพทั้ง ๓ ระบบในประเทศไทย และการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นต้น
 
   “คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน เพื่อประสานการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับว่ามีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังมีงานที่จะต้องทำอีกมาก และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาว”
 
   นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า การตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มุ่งเน้นการซักประวัติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของบุคคลนั้นๆ แล้วจึงไปถึงการตรวจร่างกายในลำดับถัดไป ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจพิเศษนั้น จะทำเฉพาะรายการที่มีข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ว่ามีประโยชน์ คุ้มค่าแก่การตรวจ เพื่อค้นหาโรคและปัจจัยเสี่ยงต่อโรค และนำไปสู่การดูแลสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ
 
    สำหรับการซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพเพื่อแม่นั้น นพ.วิวัฒน์ แนะนำว่า ควรให้แม่ได้ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี แต่รายการตรวจแต่ละปีไม่เหมือนกัน ขึ้นกับอายุของคุณแม่ด้วย โดยมีรายการที่ระบุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ได้แก่ การสอบประวัติทางสุขภาพ ๑๐ ประการ เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ประวัติป่วยของแม่ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า พฤติกรรมการบริโภคอาหาร อาการเตือนของโรคมะเร็ง
 
   การตรวจร่างกาย ๗ ประการ เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจสุขภาพช่องปาก วัดสายตา ตรวจคลำเต้านม และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ๕ ประการ เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ตรวจระดับกลูโคสในพลาสมาหลังงดอาหาร ๘ ชั่วโมง ตรวจระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด ตรวจอุจจาระ แต่บางรายการสามารถตรวจทุกๆ ๓-๕ ปีได้ ขึ้นกับประวัติครอบครัวและสภาพร่างกาย
 
   “เนื่องจากการตรวจห้องปฏิบัติการหลายรายการไม่ได้ทำทุกปี ดังนั้น ลูกๆ ควรเก็บสมุดบันทึกสุขภาพของแม่ไว้ให้ดี และนำไปพร้อมกับการตรวจร่างการประจำปี เพื่อจะได้ตรวจสอบว่า ถึงกำหนดที่จะตรวจอะไรบ้างในการตรวจสุขภาพแต่ละครั้ง”
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ