ศาลปกครองชี้ 'สิทธิการตาย' มาตรา 12 ไม่ขัดกฎหมาย สช. เดินหน้าหนังสือแสดงเจตนาไม่ยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดทางผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะตายอย่างธรรมชาติ ไม่ขอรับบริการทางการแพทย์เพื่อยื้อลมหายใจ แต่มีเงื่อนไขต้องดูแลแบบประคับประคองต่อเนื่อง ย้ำกฎกระทรวงทำตามขั้นตอนกฎหมายและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษา ยกฟ้อง คดีพิพาทที่มีผู้ฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยกเลิกกฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.๒๕๕๓ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๑๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
 
   “คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เป็นเครื่องยืนยันว่า การออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยในการแสดงเจตนาไม่ขอรับบริการสาธารณสุขเพียงเพื่อยืดเวลาเสียชีวิตนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ทั้งในส่วนของแนวคิด แนวทาง และการบังคับใช้
 
   ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เป็นสาระบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่บุคคลพึงมี ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ความคุ้มครองคนไทยทุกคนเอาไว้ และการจัดทำร่างกฎกระทรวงนี้ ยังดำเนินการอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ แพทยสภา และการเปิดเวทีมีส่วนร่วมในสี่ภูมิภาค รวมถึงผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนอีกด้วย
 
   นพ.อำพล กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุด ยังเห็นว่าการที่บุคคลแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต มีผลทำให้แพทย์ต้องเคารพการตัดสินใจดังกล่าวด้วย ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่การให้สิทธิผู้ป่วยที่จะเลือก ไม่มีชีวิตอยู่ แต่เป็นสิทธิในการเลือกที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาล เพื่อที่จะได้ตายตามธรรมชาติ ถือเป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้า เพื่อประกาศให้สาธารณชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ
 
   นอกจากนั้น ในกฎกระทรวงฯ ยังกำหนดให้แพทย์ที่รับผิดชอบการรักษามีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์ แต่ไม่มีหน้าที่ทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ ถึงแก่ความตาย หรือปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ให้การรักษา หรือใช้ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต หรือแม้ว่าหากผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ จะระบุในหนังสือแสดงเจตนาฯ ให้งดเว้นการรักษาเพื่อเร่งการตาย แพทย์ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ และผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังคงได้รับ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) จากแพทย์ รวมทั้งการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากญาติพี่น้อง จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะตายแบบธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความทรมานจากการรักษาหรือยื้อชีวิตโดยใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือยา ดังนั้น แพทย์ที่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาฯ จึงไม่มีความผิดฐานทอดทิ้งผู้ป่วยตามประมวลกฎหมายอาญา
 
   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้ว ทำให้การดำเนินการต่างๆ ชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ทาง สช. จะเร่งสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับสิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องการตายอย่างธรรมชาติ ตามมาตรา ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยจะมีการจัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวที สช. เจาะประเด็น ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยเชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์การตรงทั้งในฐานะแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ญาติผู้ป่วยที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้ และฝ่ายนโยบายที่จะขยายผลการดูแลแบบประคับประคองไปในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มาถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้สังคมรับรู้และตื่นตัวในเรื่องนี้ด้วย
 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

สรุปคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.11/2558 วันที่ 18 มิถุนายน 2558 (0)

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ