- 30 views
ซื่อตรง เที่ยงธรรม (I- Integrity and Righteousness) เป็นค่านิยมหลักประการหนึ่งของ สช. ตามที่เรียกขานจดจำกันง่ายๆว่า S-O-C-I-A-L
ผลคะแนนการประเมินดัชนีความซื่อตรง โปร่งใส (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ที่ ปปช. เพิ่งประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เป็นมาตรการและความพยายามส่วนหนึ่ง ในการแก้ปัญหาทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของหน่วยงานรัฐ และเป็นสิ่งที่ สช.ให้ความสนใจติดตามเพื่อใช้ประโยชน์
โดยส่วนตัว ผมถือว่าการประเมิน ITA อย่างเป็นระบบโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และจัดลำดับปีละครั้งและแถลงผลออกมาให้รับรู้รับทราบโดยทั่วกัน นับเป็นมาตรการที่สามารถกระตุ้นความสนใจ ติดตามของสังคม
ด้านหนึ่ง หน่วยงานผู้ถูกประเมินจะได้รับทราบว่าในสายตาของคนภายนอก มองภาพลักษณ์เราเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นเครื่องมือแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงตนเอง อีกด้านหนึ่ง ค่าคะแนนและลำดับการประเมิน ก็สะท้อนระดับภูมิคุ้มกันขององค์กรนั้นๆไปในขณะเดียวกันด้วย
เท่าที่ทราบ เขาทำการประเมิน ITA กันมาได้ 3 ปีแล้ว คือ 2558 2559 และ2560
ซึ่งเป็นที่น่าดีใจและน่าชื่นชม ที่องค์กรอิสระด้านสุขภาพ ตระกูล ส.ต่างพากันได้คะแนนการประเมินในระดับ”สูงมาก”เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น สช.ที่คะแนนต่ำกว่าเพื่อน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่ผมและพนักงานทุกคนจะต้องพัฒนากันต่อไป
ผลการในปี 2560 จากคะแนนเต็ม 100.00
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) 96.12
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) 92.77
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.(สวรส.) 92.54
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) 91.82
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) 85.43
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) 83.93
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) 81.21
อย่างไรก็ตาม แม้ สช.จะมีคะแนนประเมินต่ำกว่าเพื่อน แต่ก็มีพัฒนาการที่ดี ทำให้มีกำลังใจขึ้นมาก กล่าวคือ คะแนน 81.21 เขาถือเป็นระดับคุณภาพที่”สูงมาก”แล้ว ซึ่งเปรียบเทียบกับ 72.41 และ 71.26 เมื่อสองปีก่อนนั้นล้วนอยู่ในระดับคุณภาพ “สูง”เท่านั้น
พิจารณาลำดับของ สช. ก็ถือว่าขยับดีขึ้นมาด้วย จาก106 ใน 112(หรือ 94ใน100)ในปี2558 มาเป็น 48 ใน 53 (หรือ 90 ใน 100)ในปี 2559 และล่าสุด 39 ใน53 (หรือ 75 ใน 100)ในปี2560
และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปในรายละเอียด ก็ยิ่งพบว่า สช.ได้รับการประเมินที่ดีขึ้นในทุกองค์ประกอบ ทั้งด้านดัชนีความโปร่งใส ความพร้อมรับผิด ความปลอดทุจริต วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กรและคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน
พัฒนาการทั้งหมดนี้ มิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเกิดจากทีมผู้บริหารได้เอาใจใส่ดูแล โดยมีการปรับปรุงระบบระเบียบการทำงานที่เข้มข้นขึ้นมากทีเดียว หลายกรณีนำมาซึ่งความขัดใจ ขัดอารมณ์ความรู้สึกของพนักงานอยู่บ้างก็จำเป็น เพราะจะปล่อยแบบสบายๆอย่างแต่ก่อนก็ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม สช.จะตระหนักในความสมดุลระหว่างสามสิ่ง เพราะการสุดโต่งไปทางใด ก็ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
1. การปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างว่านอนสอนง่าย(compliance) เพื่อให้ได้คะแนนดีๆ จากคุณครู กับ
2. การดำเนินงานที่ยืดหยุ่นพลิกแพลงตามสถานการณ์จริง (performance)เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุดสำหรับประชาชนและประเทศชาติ
3. การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในองค์กร(governance) เพื่อสามารถตอบสาธารณชนได้อย่างมั่นใจ สช. จะยังคงยึดมั่นในแนวทางสายกลาง
กล่าวคือ เราคงพยายามเกาะกลุ่มการประเมินเช่นนี้ต่อไปโดยหวังว่าคะแนนและลำดับอาจดีขึ้น อีกนิดหน่อย พองาม
แต่เราจะเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานและนวัตกรรมในการรับใช้สังคมตามภารกิจหลักของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไปครับ