- 1 view
เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ผมพาอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) กัลยาณมิตร ของผม ผู้มีตำแหน่งประธานกรรมาธิการการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ สปท. ไปทัวร์ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8
อาจารย์ทราบเรื่องราวของกระบวนการสมัชชาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว และเคยคุยกันว่า น่าจะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดเครื่องมือทำนองนี้ในระบบการศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งสำหรับการปฏิรูปการศึกษา การไปทัวร์ครั้งนี้ เพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เข้ามา “รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ” กันอย่างจริงจังและมีรูปธรรมหลายอย่างปรากฏให้เห็น
ที่ผ่านมาเราขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ก้าวเลยออกไปจากระบบการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก เราชวนผู้คนทุกภาคส่วนที่เป็น “เจ้าของสุขภาพ” มาร่วมมือกันพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ในทิศทาง “สร้างนำซ่อม” และร่วมกันปฏิบัติในส่วนที่แต่ละภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทำได้
ทั้งหมดนี้เป็น“การเรียนรู้ร่วมกันจากการปฏิบัติ” แล้วก็ร่วมกันพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ต่อเนื่องไม่รู้จบ
“สมัชชาสุขภาพ” ที่เราทำ เป็นกระบวนการที่เป็นระบบ ทำงานต่อเนื่องตลอดปี ไม่ใช่มีกิจกรรมแค่วันประชุมใหญ่เท่านั้น นี่คือเครื่องมือหนึ่งที่เปิดช่องทางให้พี่น้องคนไทยทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ของประเทศ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีขึ้น
ผมจึงชวนอาจารย์ยักษ์ไปดู ไปเห็น เพื่อหาทางผลักดันการปฏิรูปการศึกษา โดยต้องชวนภาคีที่สนใจพากันก้าวให้เลยออกไปจากระบบการศึกษาที่มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นศูนย์กลาง มีนักการศึกษาเป็นเจ้าภาพหลักเท่านั้น
อย่าไปเสียเวลามากกับการปฏิรูปอะไรต่อมิอะไรในระบบการศึกษาเดิม เพราะจะพบปัญหาอุปสรรคและแรงเสียดทานมากมายจนหมดแรง
ควรหันมาให้ความสนใจปฏิรูประบบการเรียนรู้ของคนทั้งชาติ ที่กว้างกว่าระบบการศึกษา โดยคนทั้งชาติ ทุกภาคี ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน เพื่อคนทั้งชาติ (All for Learning and Education) ต้องสร้างระบบใหม่ที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นเจ้าของและเป็นเจ้าภาพจัดการเรียนรู้และจัดการศึกษาที่หลากหลายกระจายให้เต็มประเทศ
“สมัชชาการศึกษาและการเรียนรู้แห่งชาติ” “สมัชชาการศึกษาและการเรียนรู้เฉพาะพื้นที่” ฯลฯ อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดเต็มแผ่นดินหรือไม่
ประสบการณ์การปฏิรูประบบสุขภาพ สามารถนำไปเป็นบทเรียนรู้และปรับใช้ต่อยอดได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิด และช่วยกันพัฒนาต่อไปครับ