การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหาร
จากมาตรการต่างๆ ที่รัฐประกาศเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ไม่ว่า “เคอร์ฟิว” “ปิดเมือง” “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และโดยเฉพาะ “ปิดสถานประกอบการทุกประเภท” อย่างฉุกเฉิน เร่งด่วน ก่อให้เกิดความอลหม่านขึ้นในสังคมไทย ที่ไม่เคยมีการเตรียมรับมือต่อการเกิดสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ความตระหนกก่อให้เกิดการกักตุนอาหารและน้ำของผู้ที่มีรายได้ การกักตุนและโก่งราคาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันเพื่อหวังกำไร ส่งผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เดิมมีปัญหาเรื่อง “การเข้าถึง” อยู่แล้วให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งประชาชน
ที่เคย “เข้าถึง” กลับกลายเป็นคนเปราะบางด้วย “ไม่สามารถเข้าถึง” เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน มีปรากฏเหตุการณ์ใหม่ทางสังคม เกิดการ “ส่งต่อ-แลกเปลี่ยน-แบ่งปัน” ในรูปแบบ ที่หลากหลาย จาก “ผู้ที่เคยรับพลิกกลับมาเป็นผู้ให้” เช่น พระสงฆ์ กลุ่มชาติพันธ์ ชนกลุ่มน้อย ชาวเล เป็นต้น
นี่เป็นเพียงภาพสะท้อนส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ และหลังจากวิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไป มาตรการในการฟื้นฟูสังคมให้กลับมาเป็นปกติสุขโดยเร็ว ก็เป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นที่ผู้บริหารระดับนโยบายควรมีการหารืออย่างจริงจัง เพื่อจัดระบบ-ระเบียบใหม่ให้สอดรับกับ “ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)” ที่จะเกิดขึ้นนับแต่นี้
จากสภาพสังคมข้างต้น ภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย เล็งเห็นถึงโอกาสและความรีบด่วนที่จะต้องเตรียมการรับมือ จึงจัดการประชุมหารือเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
โดยมี รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธาน มีผู้แทนจากภาครัฐ สถาบัน องค์กรและภาคประชาสังคมที่มีกิจกรรมการให้ความช่วยเหลือเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่เห็นตรงกัน คือ “มาตรการปิดเมือง หรือ Lock down” เป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลสะเทือนถึง “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ของคนไทย
และเห็นว่า เรื่องความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต แบ่งเป็น 2 ระยะด้วยกัน ระยะแรกเมื่อผู้คนตกใจ เกิดการกักตุนอาหารทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงเพราะหาซื้อไม่ได้หรืออาหารมีราคาแพง รวมทั้งการปิดตัวของแหล่งจำหน่ายอาหารทั้งห้างสรรพสินค้า รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ระยะที่ 2 ผู้คนเริ่มตั้งสติได้ แต่ยังมีปัญหาในแง่การกระจายอาหาร
ให้ทั่วถึง คุณภาพของอาหาร คุณค่าและปริมาณของอาหารที่เหมาะสมกับวัยกับสภาพร่างกาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาคีเครือข่ายฯ ให้ความสำคัญมาก คือ ระยะที่ 3 การฟื้นฟูกับการเตรียมพร้อมในระยะยาว ซึ่งต้องมองให้ทะลุถึงภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือปัญหาภัยพิบัติต่างๆ จะต้องมีความพร้อมและรับมืออย่างไร ขอบเขตพื้นที่และกลไกในการดำเนินการควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร
ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร นอกจากจะคิดถึงประเด็นด้านอาหารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจและกฎหมายด้วย เช่น การทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งขัดแย้งกับกฎหมายที่ดิน หรือการปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทำให้ชาวเลในภาคใต้ไม่สามารถจับปลาได้ เป็นต้น
หรือในด้านกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม เช่น เรื่องผังเมือง การนำที่ดินว่างเปล่าในเมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ในการเป็นแหล่งผลิตอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้คนและเจ้าของที่ดิน
ฉะนั้น ในที่ประชุมจึงเป็นการเปิดภาพคร่าวๆ ของประเด็นเหล่านี้ให้เห็นในเบื้องต้น รวมทั้งการยกตัวอย่างกรณีศึกษา (Case Study) ที่น่าศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นโครงการตั้งโรงทานตามพระดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ ครัวกลาง ตู้ปันสุข ข้าวแลกปลา หรือธนาคารอาหาร
ภาคีเครือข่ายฯ มีมติเห็นชอบที่จะร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” ที่สอดคล้องกับประเด็นหลักการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2563 “พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤตสุขภาพ” ภายใต้แนวคิด “ชุมชนต้องตื่นรู้พึ่งตนเองได้ มีกลไกการบริหารจัดการร่วม สร้างระบบการผลิตที่ปลอดภัย มีคลังอาหารสำรองเมื่อเกิดวิกฤตในระยะหนึ่ง”
ในเบื้องต้น ภาคีเครือข่ายจะร่วมกันสังเคราะห์ข้อมูล ข้อเสนอจากประสบการณ์โควิด-19 เพื่อประมวลสถานการณ์และข้อเสนอในภาพรวม สู่การวางแผนพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ต่อไป
ด้าน น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) กล่าวถึงโอกาส
ที่ประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้สารเคมี “พาราควอต” ในประกาศฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ในการนำเสนอ New normal ทางเกษตรกรรม ที่จะเกิดขึ้นทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และหลังการแบนสารพิษดังกล่าว
“ช่วงโควิดทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องตกงาน และกลับไปอยู่ในภาคการเกษตร เราจะทำอย่างไรให้เขาไม่ต้องกลับไปอยู่ในวงจรหนี้แบบเดิม ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสในการเกิด New normal แบบใหม่ ที่ประเทศไทยจะนำพาวิถีเกษตรไปในทิศทางใด เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ มีศักดิ์ศรี ไม่พึ่งพาสารเคมี ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีการเพาะปลูก ไปจนถึงระบบการตลาด โดยกลไกหรือมาตรการของรัฐจะไปหนุนเสริมได้อย่างไรบ้าง” น.ส.ปรกชล ฉายภาพ
อนึ่ง กลุ่มมติฯ เกษตรและอาหารปลอดภัย มีด้วยกัน 5 มติฯ ได้แก่ มติ 1.5 เกษตรและอาหารในยุควิกฤต มติ 5.5 ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มติ 5.8 การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร มติ 6.5 ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน มติ 8.1 สุขภาวะชาวนา: การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.samatcha.org
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147
- 3238 views