- 28 views
ระดมความเห็นยกเครื่องการศึกษาและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ รับมือภัยสุขภาพรูปแบบใหม่ และการเปิดประชาคมอาเซียนรวมถึงโลกไร้พรมแดน วาง ๖ ยุทธศาสตร์ กระจายบุคลากรลงสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง เชื่อมโยงการทำงานสถาบันการศึกษา สร้างจิตสาธารณะของบุคลากรในวิชาชีพ ตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงให้เห็นผลใน ๑๐ ปีข้างหน้า
เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ มีจัดการประชุม “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย” ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ฯ ที่ผ่านกระบวนมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมาด้วย
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า การเรียนการสอนวิชาชีพด้านสุขภาพ จำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในทุกมิติ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในสาขาต่างๆอย่างเหมาะสม โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างระบบการจัดการศึกษาและระบบสุขภาพ โดยสนับสนุนให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงและจัดการศึกษา มีการพัฒนาคุณภาพที่สอดคล้องกับระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ใช้นวัตกรรมในการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพให้บริการเป็นทีมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม
เนื่องจากปัจจุบัน มีการเกิดขึ้นของโรคติดต่ออุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ อุบัติเหตุ และภัยธรรมชาติที่รุนแรง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ และมีการพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขพื้นฐาน อาทิ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการปฏิรูประบบการเงินการคลังเพื่อสุขภาพ รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อม และรูปแบบการดูแลสุขภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีราคาแพงที่ต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรักษาพยาบาล การเน้นงานป้องกันและการส่งเสริม สุขภาพ
ขณะที่ปัจจัยภายนอก ก็ได้ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขเช่นกัน อาทิ การจัดการปัจจัยด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่กระทบต่อสุขภาพ การเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพผ่านระบบสื่อสารไร้พรมแดน และการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ รวมทั้งนโยบายการเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค (Medical Hub)
“ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากภาวะขาดแคลนบุคลากรในสถานพยาบาลช่วง5ปีที่ผ่านมา มีการใช้จ่ายยาและเทคโนโลยีราคาแพงอย่างไม่เหมาะสม เป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อระบบสุขภาพอย่างหนัก รวมถึงการเกิดช่องว่างระหว่างบุคลากรด้านสุขภาพและประชาชน ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและการฟ้องร้องต่างๆมากมาย”
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ มีฉันทามติเรื่องการปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย และนำมาสู่การจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์ฯโดยมีการจัดกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิ มาแล้วหนึ่งครั้ง ก่อนจะจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเพื่อรับรองแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑)
ร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ ประกอบด้วย ๖ ประเด็น ได้แก่ ๑. การกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพ โดยใช้หลักฐานทางวิชาการ ๒.การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้กำลังคนด้านสุขภาพ ๓. การปฏิรูปการบริหารจัดการในสถาบันการศึกษา ๔. การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ๕.การจัดการความรู้ ๖.การสร้างเครือข่ายสู่การปฏิรูปการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพ
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ เลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ กล่าวว่า น่ายินดีที่ที่ประชุมวันนี้มีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ใช่เพียงบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขสาขาต่างๆจากหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ และสถานบริการรัฐ เอกชนเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญและมีประสบการณ์ตรง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งที่ประชุมได้มีมติรับรอง ร่างยุทธศาสตร์ฯทั้ง ๖ ประเด็นแล้ว และจะร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป โดยเชื่อว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปบุคลากรทางด้านสุขภาพอย่างได้ผล ภายในระยะเวลา10 ปี เบื้องต้นคาดว่าในช่วง 3 ปีแรก จะเริ่มเดินหน้าปฏิรูปในส่วนของคณาจารย์ก่อน ส่วนเรื่องหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน ต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เนื่องจากปกติสถาบันการศึกษาจะใช้ระยะเวลาการสอนประมาณ 6 ปีต่อหลักสูตร จึงต้องมีเวลาในการประเมินผลระยะหนึ่ง ก่อนนำมาปรับปรุงต่อไป
หลังสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นมีมติรับรองแผนยุทธศาสตร์ฯนี้แล้ว จะมีการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯต่อไป
สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140