แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สู้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม เสียงเตือนจากวัยใส...สู่เข็มทิศสังคมไทย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

 แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย แผนงาน และยุทธศาสตร์ว่าด้วยการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการมานับ ๑๐ ปี แต่สถานการณ์วัยรุ่น ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร กลับไม่ดีขึ้นเท่าไหร่นัก โดยสถิติ คุณแม่วัยทีน ยังสูงกว่าเกณฑ์ชี้วัดในระดับนานาชาติ และเป็นเข็มทิศบ่งบอกถึงสถานการณ์สังคมในอนาคต
 
   ความซับซ้อนของสังคมไทยทำให้สถานการณ์ปัญหา ลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม จึงได้มีมติในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ เรื่อง “การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม” เพื่อบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบและผลักดันให้เกิดเครื่องมือในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
   พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า ตัวเลขแม่วัยรุ่นไม่ได้ลดลงไปมากนัก ตามข้อมูลของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี ๒๕๕๔ อัตราการคลอดของหญิงอายุ ๑๕-๑๙ ปี อยู่ที่ ๕๓.๖ คน ต่อประชากรหญิงในวัยเดียวกัน ๑,๐๐๐ คน ต่อมาปี ๒๕๕๕ อยู่ที่ ๕๓.๘ คน และปี ๒๕๕๖ อยู่ที่ ๕๑.๒ คน
 
   “สถิติการตั้งครรภ์ที่ยังเกินกว่า ๕๐ คนนั้น ตามเกณฑ์ของนานาชาติจึงถือว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เราพูดเรื่องเพศศึกษามานับสิบปี แต่ไม่ทันกับวิถีชีวิตที่เป็นอยู่ของเด็กวัยรุ่น” ดังนั้น ปัญหาท้องในวัยเรียนไม่สามารถแก้ได้ด้วยยุทธศาสตร์หรือแผนงาน แต่ต้องลงมือทำในโรงเรียน ด้วยความร่วมมือของครูทุกคนที่เข้าใจเด็ก เป็นคำเฉลยของ อาจารย์สุพาณี เสมสุขกรี อาจารย์จิตวิทยาให้คำปรึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ที่ย้ำเตือนว่า ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่นได้ หากยังมุ่งแต่แผนงานและยุทธศาสตร์บนแผ่นกระดาษ
 
   กว่า ๓ ปีที่วิทยาลัยฯ ผลักดันการแก้ปัญหาทุกด้านพร้อมๆ กัน ทั้งการสอนในห้องเรียน และอบรมเรื่องเพศศึกษาเป็นระยะๆ รวมถึงพูดคุยกับเด็กๆ กลุ่มเสี่ยงเป็นรายบุคคล พร้อมขอความร่วมมือครูอาจารย์ที่มีใจมาช่วยกันดูแลเด็กๆ ขณะเดียวกันก็มีการทำวิจัยเชิงวิชาการเพื่อเก็บข้อมูลและติดตามผลเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย จึงไม่ต้องแปลกใจที่วิทยาลัยแห่งนี้จะกระจาย ถุงยางอนามัย ให้ครูหลายคน รวมถึงบรรณารักษ์ห้องสมุดซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าถึงเครื่องมือป้องกัน โดยบรรณารักษ์ห้องสมุด จุดที่เด็กชายมารับถุงยางอนามัยมากที่สุด บอกว่า มีเด็กมาขอเฉลี่ย ๒๐๐ ชิ้นต่อสัปดาห์ ส่วนวันเทศกาลยอดฮิต อาทิ ลอยกระทง สงกรานต์ หรือวันวาเลนไทน์ มีสถิติเด็กขอถุงยาง ๒๐๐ ชิ้นภายใน ๓ วัน ครูสุพาณี อธิบายว่า เราไม่ได้แจกถุงยางอย่างเดียว แต่จะถามและบอกวิธีการใช้ด้วย พร้อมกับใช้โอกาสนี้ตักเตือนเด็กๆ ให้รู้เท่าทันและมีความรอบคอบในเรื่องเพศ
 
   การแจกถุงยางอนามัยอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือป้องกันที่จำเป็น ซึ่ง ชนินท์พัฒน์ ประสาสน์ศักดิ์ หรือ “แมทธิว” นักเรียน ปวช.ปี ๓ สาขาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ อ่านใจเพื่อนวัยเดียวกันให้ฟังว่า การห้ามไม่ให้วัยรุ่นทำอะไรนั้นเป็นเรื่องยาก เข้าทำนอง ยิ่งห้ามยิ่งยุ เพราะวัยรุ่นต้องการเอาชนะ ชอบความท้าทาย อยากรู้อยากลองในหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ บางครั้งเขายังได้ยินเพื่อนท้าทายให้ทำลายสถิติการมีเพศสัมพันธ์ด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ๑๔ กุมภาพันธ์-วันวาเลนไทน์ แมทธิวบอกว่า คนที่มีแฟนจะถือว่าเทศกาลนี้เป็นวันพิเศษในการแสดงความรักต่อกัน ต้องนัดกันไปเที่ยว และส่วนใหญ่มักจะไปอยู่ในบรรยากาศที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์...เพราะความรักในวัยของเขาเป็นเรื่องเดียวกับการมีเพศสัมพันธ์ สิ่งที่แมทธิวทำได้ คือ การย้ำให้เพื่อนๆ ป้องกันทุกครั้ง หรือบางครั้ง ก็พาเพื่อนไปขอถุงยางอนามัยจากครู ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว เขามองว่า ควรย้ำเตือนถึงผลที่เกิดจากการพลาดพลั้ง และการปลูกฝังหลักศีลธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะผู้ชายที่ต้องมีความเป็นสุภาพบุรุษ จะช่วยแก้ปัญหาได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ครูสุพาณีย้ำว่า หน่วยงานที่เกี่ยวต้องต้องเร่งปรับทัศนคติเรื่องความรักเสียใหม่ เพราะเด็กวัยนี้คิดว่า รักกัน หมายถึงต้องมีเพศสัมพันธ์ ขณะเดียวกันต้องบ่มเพาะและสอนเทคนิคเด็กผู้หญิงให้รู้จักปฏิเสธโดยไม่มีข้อแม้ แม้ฝ่ายชายจะร้องขอ รวมถึงการย้ำเตือนให้หลีกเลี่ยงการอยู่ลำพังชายหญิงแม้แต่ที่บ้าน เหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงและโอกาสการมีเพศสัมพันธ์ได้
 
   อย่างไรก็ตาม ครูสุพาณีย้ำว่า การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนเป็นเรื่องความรักของวัยรุ่น ที่จะตามมาด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ที่ต้องเน้นการปรับความคิดและพฤติกรรมของเด็ก ดังนั้น วิธีการแก้ไขป้องกันการตั้งท้อง จะเป็นคนละแนวทางกับกรณีเด็กผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ ที่ทุกภาคส่วนต้องลงมือช่วยกันด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะคนในชุมชน ซึ่งเป็นจุดหลักที่เกิดปัญหา “จากแบบสอบถามเด็กกว่า ๖๐๐ คนเมื่อปี ๒๕๕๖ ทำให้รู้ว่า ความไม่รู้ หรือเข้าใจแบบผิดๆ ในเด็กวัยรุ่น มีหลายเรื่องที่นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ระวังและตั้งท้อง ดังนั้นจึงต้องเร่งปรับการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาใหม่ โดยสอดแทรกในทุกส่วนของชีวิตเด็ก ทั้งการเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่สอนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม ขณะที่การปรับทัศนคติและการบ่มเพาะความรู้ต้องใช้เวลา ในระยะสั้นก็ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วย ซึ่งเครื่องมือป้องกันที่เด็กเข้าถึงง่ายเป็นเรื่องสำคัญ และถุงยางอนามัยก็ได้ผล นอกจากนี้ ครูสุพาณียังนำเด็กกลุ่มเสี่ยงไปฝังยาคุมกำเนิดด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย และสิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดนั้น ช่วยลดสถิติวิทยาลัยฯ จากจำนวนเด็กตั้งท้อง ๔๔ คนในปีการศึกษา ๒๕๕๕ เหลือ ๒๓ คนในปี ๒๕๕๖ “สิ่งที่เราทำเป็นการป้องกันและสร้างทางเลือก เพื่อให้โอกาสเด็กได้เรียนต่อจนจบ ให้เขามีศักยภาพหาเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคงในอนาคต แทนที่จะมีทางเลือกเดียวคือเลิกเรียน แต่ย้ำว่าเราจะไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ ผู้ปกครองและเด็กจะเป็นผู้เลือกทางของเขาเอง ซึ่งบางกรณีผู้ปกครองก็เลือกยุติการตั้งท้องให้เด็ก”
 
   อาจไม่สามารถสรุปได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์และมีลูกในช่วงวัยรุ่นเป็นความผิด ครูสุพาณี บอกว่า เด็กบางคนเมื่อมีลูกและกลับมาเรียนดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และส่วนใหญ่ก็เรียนต่อจนจบ แต่ประเด็นคือ หลายคนเลิกรากับพ่อของเด็กหลังมีลูกด้วยกันแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เด็กหญิงต้องเผชิญในชีวิตจริง กระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เพศเป็นวิถีชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ น.ส.จิตติมา ภานุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ย้ำมาตลอด โดยอธิบายว่า กระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศ หมายถึงต้องทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องคุยได้พูดได้ โดยผู้ใหญ่ฟังอย่างไม่ตัดสิน เพื่อให้เด็กกล้าเดินมาปรึกษา และผู้ใหญ่ก็ให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง ดังนั้น สิ่งท้าทายในสังคมไทย คือการปรับมุมมองเรื่องเพศ ที่ต้องไม่ตัดสินว่าเด็กที่มีเพศสัมพันธ์เป็นเด็กใจแตก และต้องไม่มองว่าเด็กคือตัวปัญหา แต่เป็นผู้ประสบปัญหาที่เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข นอกจากนี้ต้องมองปัญหาแบบองค์รวม เพื่อให้เห็นรากเหง้าของปัญหาในแต่ละจุด และทำงานอย่างบูรณาการ
 
   น.ส.พัชรา อุบลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) บอกว่า กลไกการทำงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ช่วยประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อบูรณาการทำงานเรื่องเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของหน่วยงานเดียว แต่รวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชนต้องสานพลังการขับเคลื่อน ที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันเป็นมติสมัชชาแห่งชาติ ๒ ครั้ง คือ มติในปี ๒๕๕๓ การแก้ปัญหาวัยรุ่นไทยกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ซึ่งส่วนหนึ่งของมติ คือ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการอนามัยเจริญพันธุ์ พ.ศ.... ที่ขณะนี้ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อเสนอเข้าสู่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนั้น ยังมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๗ พ.ศ.๒๕๕๗ การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อบูรณาการกลไกคุ้มครองเด็ก เยาวชน และครอบครัวจากปัจจัยเสี่ยง หลังจากนี้ สช. จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือต่อไปในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ปัญหาเบาบางลง
 
   นางเพ็ญศิริ ศรีจันทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ทำให้เกิดพื้นที่และกลไกการทำงานของเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายรัฐ วิชาการ ชุมชน และท้องถิ่น โดยในปี ๒๕๕๖ สมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี ได้นำประเด็นสุขภาวะเด็กและเยาวชน ซึ่งครอบคลุมเรื่องแม่วัยรุ่น เข้าพิจารณาหาทางออกร่วมกันด้วย และก่อให้เกิดการดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่อง จังหวัดอุดรธานี เคยมีปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในอันดับต้น มีการตั้งครรค์ในช่วง ๑๕-๑๙ ปี จำนวน ๕๙ คนจากประชากร ๑,๐๐๐ คน ต่อมาปี ๒๕๕๗ ลดเหลือ ๕๔ คน และคาดว่าในปี ๒๕๕๘ จะเหลือประมาณ ๓๙ คนต่อประชากร ๑,๐๐๐ คน เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปัญหา เพื่อแก้ปัญหาสังคมและหยุดวงจรความเสี่ยง “แม่วัยรุ่นมักถูกจับแต่งงาน มีโอกาสไปสู่ปัญหาหย่าร้าง และเข้าสู่แรงงานที่ไม่มีคุณภาพเพราะไม่มีโอกาสเรียนต่อ เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา เสี่ยงเข้าสู่การค้าประเวณี เอดส์ ยาเสพติด และสร้างปัญหาอื่นๆ ในสังคม ส่วนเด็กเกิดใหม่ที่เติบโตในครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมก็มีความเสี่ยงจะเข้าสู่วงจรเดียวกับพ่อแม่”    สำหรับการเรียนรู้เรื่องเพศนั้น ทำทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน มุ่งเน้นให้เด็กมีความรู้และมีทักษะในการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย และเข้าถึงการบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็วด้วย ขณะเดียวกันก็มีการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้ใหญ่ในตำบล... ปรับวิธีคิดและสื่อสารเรื่องเพศในวัยรุ่นใหม่ เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่เข้าใจกันมากขึ้น

 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ