ส่องบทบาทเยาวชน 5 ประเทศ ร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งสู้ภัย ‘โควิด-19’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. ชวนเยาวชน 5 ประเทศ ร่วมเสวนาออนไลน์ถอดบทเรียนการทำงานสู้โควิด-19 บนพลังการมีส่วนร่วม พบ “เทคโนโลยี-ประสานเครือข่าย-หาเป้าหมายร่วม” คือ เครื่องมือสำคัญของเยาวชนในการรับมือกับปัญหา
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเสวนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “The Role of Young Generation in Multi-Sectoral Collaboration against COVID-19” เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อบอกเล่าถึงบทบาทของภาคเยาวชนและความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยมีตัวแทนเยาวชนจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมาร์ ร่วมพูดคุย
 
   การเสวนานี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน จาก 10 ประเทศ คือ ไทย บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และปากีสถาน แบ่งเป็นนักศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาจารย์มหาวิทยาลัย บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เกษตรกร ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศ
 
   น.ส.สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาเด็กฯ ก่อตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีบทบาทในการส่งเสียงของเยาวชนถึงผู้กำหนดนโยบาย โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สภาเด็กฯ ทำกิจกรรมทั้งการลงพื้นที่ให้ความรู้ความช่วยเหลือ และกิจกรรมออนไลน์โดยเฉพาะความร่วมมือกับ UNICEF, UNDP และ UNFPA สำรวจผลกระทบและความต้องการของเยาวชน โดยมีเยาวชนจากทั่วประเทศตอบแบบสำรวจออนไลน์ถึง 6,771 คน และข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาใช้ออกแบบกิจกรรมขององค์กรภาครัฐและ UN ต่อไป
 
   ผลสำรวจพบว่า เยาวชนได้รับผลกระทบด้านการเงินมากที่สุดเพราะผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ รองลงมาคือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ความเหงา โดยเฉพาะกลุ่มเพศทางเลือก (LQBTIQ) ที่ได้รับแรงกดดันจากเพศสภาพเพราะไม่ได้เปิดเผยตัวตนให้คนในครอบครัวรับรู้ และอันดับสุดท้ายคือผลกระทบต่อการเรียน เพราะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ นอกจากนี้ประธานสภาเด็กฯ กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานกับหลายภาคส่วนว่า “ถ้าเรามีเป้าหมายร่วมกัน เราแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และสภาเด็กฯ มีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน ทำให้การทำงานช่วงวิกฤตนี้เป็นไปได้ดี”
 
   ดร.เมีย มิตซู จอ ผู้จัดการแผนงาน จากองค์กร Community Partners International (CPI) ประเทศเมียนมาร์ กล่าวว่า CPI เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิด้านสุขภาพ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิง และเยาวชน ทั้งนี้ปัจจุบันประชากรกลุ่มใหญ่ของเมียนมาร์คือกลุ่มเยาวชนที่เป็นกำลังหลักในทำงาน หารายได้ให้กับครอบครัว เพราะฉะนั้นพวกเขาคือกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงมาก ขณะเดียวกันก็มีบทบาทสำคัญในการทำงานป้องกันและควบคุมโรค และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมและครอบอครัวได้อีกด้วย
 
   ดร.มิตซู กล่าวว่า การดึงส่วนร่วมจากภาคเยาวชนนั้น ต้องใช้ 3 องค์ประกอบ คือ 1. การเสริมพลัง โดยให้เยาวชนเป็นผู้สร้างสรรค์กิจกรรมเอง 2. การลงมือทำคือเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อสู้กับโควิดได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชนไปจนถึงนโยบาย 3. การมีส่วนร่วมที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้เสียงเยาวชนได้ถูกสะท้อนออกมา ผู้จัดการแผนงานฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าในช่วงโควิด-19 นี้ ทำงานกับเพื่อนภาคีได้ดีเป็นเพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก่อน งบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ที่เพียงพอ กฎระเบียบที่ยืดหยุ่น และข้อมูลที่เพียงพอ
 
   นายอัสเดอร์ ราห์มัน นาบิน กรรมการชมรมนักศึกษาแพทย์ประเทศบังคลาเทศ รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (Bangladesh Medical Students’ Society -BMSS) กล่าวว่า เป้าหมายของชมรมฯ คือการร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศด้วยการเสริมศักยภาพของนักศึกษาแพทย์ และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ ทางชมรมฯ จัดประชุมออนไลน์ให้ความรู้กับนักศึกษาแพทย์หลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีความเข้าอกเข้าใจต่อผู้ลี้ภัยมากยิ่งขึ้น
 
   นอกจากนี้ ยังเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมให้ความรู้เรื่องประสบการณ์การรักษา การใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองที่ถูกต้อง รวมถึงการรับมือปัญหาด้านความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพบมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ นายอัสเดอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า การแสวงหาภาคีที่ใช่ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน พร้อมแบ่งปันทรัพยากร เป็นความท้าทายอย่างมากในการทำงานแบบข้ามภาคส่วน
 
   น.ส.รีน่า มัลลิลิน ประธานสมาคมนักศึกษาแพทย์แห่งเอเชีย ประจำประเทศฟิลิปปินส์ (Asian Medical Students’ Association- Philippines -AMSA) กล่าวว่า สมาคมฯ มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบสุขภาพและความเป็นธรรมในสังคม โดยในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีการจัดแคมเปญแปลภาษาออนไลน์เพื่อแปลข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ โควิด-19 ไปยังประชาชนทั่วไปและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วฟิลิปปินส์ โดยแปลเป็นภาษาท้องถิ่นถึง 6 ภาษา
 
   นอกจากนี้ทางสมาคมฯ ยังร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศฟิลิปปินส์ นักศึกษาด้านภาษาศาสตร์ กฎหมาย และภาคีอื่นๆ จัดกิจกรรมให้คำปรึกษาด้านสุขภาพออนไลน์ (Telemedicine) เสวนาออนไลน์เพื่อให้ความรู้และป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต การบริจาคอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตแบบพกพา (Pocket Wifi) เพื่อเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ประธานสมาคมฯ กล่าวทิ้งท้ายว่าการทำงานกับเพื่อนภาคีหลายองค์กรนั้น ต้องสร้างช่องทางการสื่อสารที่เหมะสม ต้องมีความโปร่งใส เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน
 
   นายหลี โกว๊ก ดั๋ง ผู้ก่อตั้งเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ภูมิภาคแม่น้ำโขง (Mekong Youth Farm Network (Y-Farm) ประเทศเวียดนามกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ มีเป้าหมายในการให้ความรู้เรื่องเกษตรยั่งยืน พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ จัดทำคู่มือการปลูกผักที่บ้าน รวมไปถึงแจกเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ไปยังเครือข่าย 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม และไทย “ในช่วงโควิดผู้คนจำนวนมากต้องอยู่บ้าน ไปทำงาน ไปค้าขายไม่ได้ และมีปัญหาการเข้าถึงอาหาร เราจึงให้ความรู้ในการเพาะปลูกอาหารเองที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนจนเมืองที่แทบไม่มีที่ดินในการทำอะไร ซึ่งเราได้ให้ทั้งเมล็ดพันธุ์ และคู่มือที่บอกวิธีในการปลูก การดูแล การผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอาหาร ต่างๆ เหล่านี้ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาอะไร”
 
   ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดคือคนรุ่นใหม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสูงมาก บวกกับช่องทางการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและกว้างไกล ทำให้ไม่มีปัญหาในการหาและตรวจสอบข้อมูล ทั้งยังสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างความร่วมมือ ที่นำไปสู่เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องสร้างเวทีหรือช่องทางที่เชื่อมเสียงของเยาวชน คนรุ่นใหม่ กับผู้กำหนดนโยบายให้มากขึ้นอีกด้วย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ