พม. จับมือ สช. - สธ. นำทัพ ยกร่างกฎหมาย ‘สังคมสูงวัย’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีการประชุม คณะทำงานขับเคลื่อนสังคมสูงวัยไทยอายุยืน ครั้งที่ 1/2562 ซึ่ง นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมี รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธาน คณะทำงานฯ มีหน้าที่ในการศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และวางกรอบร่างกฎหมายว่าด้วยสังคมสูงวัย
 
   “สังคมสูงวัยกำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ประเทศไทยเผชิญ แต่เรามีแผนรองรับเรื่องนี้ฉบับปี 2525 เท่ากับว่าเราแทบไม่มีความพร้อมในการรับมือปัญหา การตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญผู้ปฏิบัติงานจากหลายภาคส่วนจะมาช่วยระดมข้อมูล ความคิดเห็น ในการปรับยุทศาสตร์ ปรับแผน ปรับโครงสร้าง สร้างระบบต่างๆ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจต้องมีการยกร่างกฎหมายที่ครอบคลุมทุกมิติ” นายจุติ กล่าว
 
   นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมคือ การทำให้เกิดการปฏิบัติจริง หากมีการยกร่างกฎหมายเรื่องนี้ โจทย์ของตนก็จะเป็นว่า ทำอย่างไรจะผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านรัฐสภา จากนั้นต้องสร้างความเข้าใจกับคณะกรรมาธิการสามัญทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยอาศัยข้าราชการและภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในคณะทำงานนี้ร่วมอธิบายกับฝ่ายนิติบัญญัติ เนื่องจากคำอธิบายจากนักการเมืองอาจมีข้อจำกัด นอกจากนี้ยังต้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจจากฐานรากเพื่อนำแรงหนุนอีกส่วนหนึ่งมาบรรจบกัน
 
   “สังคมสูงวัยจะเป็นข้าศึกใหม่ที่สังคมไทยไม่เคยพบมาก่อน โดยปกติสังคมไทยไม่ค่อยเตรียมตัวระยะยาว ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เรื่องนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ยาก ถ้าไม่สร้างระบบรองรับ ที่ผ่านมาหลายส่วนศึกษาเรื่องนี้กันมาพอสมควร แต่ทำอย่างไรที่จะผสานสิ่งต่างๆ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มีสภาพบังคับ ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่มีความขัดแย้ง ทุกสี ทุกพรรค ทุกคนต่างประสบชะตากรรมเดียวกัน ไม่มีใครได้ ไม่มีใครเสีย แต่เราจะเสียทั้งหมดถ้าเราไม่ร่วมมือกันหาทางรองรับ” รศ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าว
 
   ประธานคณะทำงานฯ ย้ำว่า การวางแผนรองรับควรต้องมองไปที่ประชากรวัย 40-60 ปีเป็นหลักเพราะกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต รวมทั้งต้องมองประชากรที่อายุต่ำกว่า 40 ปีด้วยเพราะพวกเขาจะมีภาระหนักที่สุดในการเสียภาษีเพื่อสร้างสวัสดิการในอนาคต เรื่องนี้จึงต้องมองภาพอย่างเป็นพลวัต โดยคณะทำงานจะหารือร่วมกันว่าประเด็นหลักที่สังคมต้องเร่งมือเตรียมรองรับมีเรื่องใดบ้าง เบื้องต้นแบ่งเป็น 4 มิติใหญ่คือ เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพแวดล้อม และสังคม/ชุมชน ส่วนการดำเนินการอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะใช้วิธีแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีอยู่แต่ยังไม่ครอบคลุมอีกหลายเรื่อง หรือจะเป็นการร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งต้องมีการหารือกันต่อไป
 
   ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคมสูงวัยมายาวนานแล้ว และพัฒนาเป็นสมัชชาเฉพาะประเด็นสังคมสูงวัยใน 4 มิติ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่ทั้ง 4 ภูมิภาคตั้งแต่การค้นหาประเด็น สร้างความเข้าใจ และรวบรวมความต้องการของประชาชน
 
   “ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2562 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย และมอบให้ สช. ประสานกับองค์กรภาคีหลักดำเนินงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามมติ รวมทั้งรวบรวมประเด็นและข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานฯ นี้ จะทำให้ได้นำมติสมัชชาสุขภาพฯ ไปบูรณาการงานกับที่ส่วนอื่นๆ เพื่อผลักดันให้การสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยในมิติต่างๆ เกิดผลเป็นจริง”
 
   ศ.เกียรติคุณ เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมและทุกหน่วยงานของรัฐคือ ‘สังคมสูงอายุ’ กับ ‘สังคมสูงวัย’ เป็นคนละประเด็น ในสังคมสูงวัยนั้นมีปัญหาตั้งแต่อัตราการเกิด วัยทารก วัยเด็ก การศึกษา การสร้างครอบครัว การประกอบอาชีพ จนถึงปัญหาผู้สูงอายุ ดังนั้นในสังคมสูงวัย ปัญหาคนสูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาอีกห้าร้อยปัญหา นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลและจำเป็นที่ต้องตระหนักให้มาก คือ 1.ความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ยากมากขึ้น 2.Mind set ของคนแต่ละรุ่นไม่เหมือนกันเลย ต้องตระหนักว่าเรากำลังเตรียมรับมือสังคมสูงวัยที่ mind set ของคนหลากหลายมาก
 
   ศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ปี 2563 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 13.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของประชากร และอีก 15 ปี หรือปี 2578 จะมีผู้สูงอายุถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประชากร ในส่วนตัวเลขของผู้สูงอายุติดเตียง ปี 2563 มีราว 600,000 คน และในปี 2593 คาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 1.6 ล้านคน หากไม่ลงมือทำอะไร
 
   “การเตรียมรับมือต้องทำในทุกวัย โดยเฉพาะคุณภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิดและแรงงาน มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ชี้ว่าคุณภาพเด็กและแรงงานไทยลดลง แล้วผลิตภาพของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราเคยศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อเทรนด์ของคนในอนาคตพบว่า พวกเขาจะมีข้อมูลเยอะมาก แต่ไม่รู้จะเลือกใช้อย่างไร ผู้คนไม่คิดจะแต่งงาน ไม่ต้องการมีลูก ขาดความสมดุลในชีวิตระหว่างงานกับครอบครัว ขาดทักษะในการสร้างครอบครัว เรื่องพวกนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมสูงวัยที่เราต้องศึกษาและหาทางแก้ไข” ศ.วิพรรณ กล่าว
 
   ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนสังคมสูงวัยไทยอายุยืน ตั้งโดยคำสั่งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ 757/2562 ลงวันที่ 8 พ.ย.2562 มีจำนวน 28 คนจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน สถาบันอุดมศึกษา สภากาชาดไทย ฯลฯ ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (2545-2565) และ 3 (2566-2580) และทำหน้าที่ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ และเสนอแนะ รวมทั้งออกแบบและพัฒนารูปแบบการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมเพื่อเตรียมประชากรไทยให้เข้าสู่สังคมสูงวัยที่พึงประสงค์ โดยจะร่วมกันวางกรอบร่างกฎหมายเสนอต่อผู้บริหารและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ