สานพลังเอกชน-รัฐ-ชุมชน ร่วมใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างชุมชนเข้มแข็ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   เวทีสานใจสานพลังว่าด้วยดิจิทัลกับชุมชนเข้มแข็งชวน 80 กว่าชุมชนร่วมเปิดไอเดีย นำเสนอตัวอย่างชุมชนสุดล้ำ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดการแพทย์ฉุกเฉินเข้าถึงผู้ป่วยได้เร็วกว่ามาตรฐาน-ทำเกษตรอินทรีย์สุดไฮเทคพร้อมสื่อสารการตลาด ด้านตัวแทนภาครัฐระบุมีงบสนับสนุนจากอย่างน้อย 4 แห่งเปิดให้ยื่นขอ ส่วนภาคเอกชนพร้อมหนุนเทคโนโลยีชุมชน
 
   วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มีการจัดงานสานใจฟอรั่ม สานใจสานพลังภาคีสนับสนุนปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง ครั้งที่ 2/2562 ว่าด้วย ‘ดิจิทัลกับการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง’ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และเครือข่ายชุมชนจากพื้นที่ต่างๆ กว่า 80 กลุ่มเข้าร่วม
 
   ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเปิดงานว่า เวทีนี้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนชุมชนด้วยพลังการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมาเคยพูดคุยกันในหลากหลายประเด็นทั้งตำบลชุมชนสูงวัย เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวชุมชน การจัดการขยะชุมชน ฯลฯ ทำให้เครือข่ายได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนต่อยอดซึ่งกันและกัน ที่สำคัญยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไปได้
 
   ธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีคนที่เข้าสู่โลกดิจิทัลได้ 5,000 กว่าล้านคนจากประชากรโลกทั้งหมด 7,600 ล้านคน สำหรับประชากรไทย 69 ล้านคนก็เข้าถึงโลกโซเชียลมีเดียถึง 51 ล้านคน และคนไทยใช้เวลาถึง 9 ชม.38 นาทีต่อวันในโลกดิจิทัล กิจกรรมที่ทำสูงสุดคือ ส่งข้อความ ดูวิดีโอ เล่นเกม โมบายแม็พ โมบายแบ็งกิ้ง ฯลฯ ในส่วนการค้าขายออนไลน์ มีการคาดประมาณว่าคนไทย 37.5 ล้านคนเข้าสู่โลกของอีคอมเมิร์ซ และใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000 กว่าบาทต่อคนต่อปี
 
   ธีรวุฒิกล่าวต่อว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) มีแผนพัฒนาดิจิทัลฯ ระยะ 20 ปี โดยมีเป้าหมายยกระดับเกษตรกรในชุมชน เปิดโลกการศึกษาใหม่ในชุมชน ให้บริการภาครัฐลงสู่ชุมชน สร้างโอกาสค้าขายออนไลน์ในชุมชน นอกจากนี้ยังมีกองทุนด้านดิจิทัลของ 4 หน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนยื่นโครงการขอสนับสนุนทุน ไม่ว่าโครงการเล็กหรือใหญ่ก็ตาม นั่นคือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กองทุน DE กองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ของกระทรวงวัฒนธรรม และ กสทช.
 
   สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ตัวเลขผู้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลจะสูง แต่การนำไปใช้เพื่อการสร้างสรรค์หรือประโยชน์สาธารณะยังมีน้อยมากในระดับพื้นที่ เวทีสานใจฯ จะช่วยทำให้ชุมชนเห็นตัวอย่าง เกิดแรงบันดาลใจ ที่สำคัญยังเป็นการจับคู่ระหว่างชุมชนกับผู้สนับสนุน ซึ่งมีทั้งภาครัฐที่มีงบประมาณและภาคเอกชนที่มีการพัฒนาแอพลิเคชั่นหรือเครื่องมือของเขาอยู่แล้ว
 
   “ยกตัวอย่างเช่น เอกชนเขาทำแอพบริหารจัดการหมู่บ้านอยู่แล้ว มีสมาชิก 3,000 กว่าหมู่บ้าน ตอนนี้เขาอยากทำแอพเกี่ยวกับชุมชน แล้วถ้าพบว่าชุมชนมีผลิตภัณฑ์อินทรีย์หรือสินค้าท้องถิ่นจำนวนมาก ก็อาจเชื่อมโยงสองแอพนี้ ให้ชุมชนได้เจอผู้บริโภคในหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ โดยตรง” สมเกียรติ ยกตัวอย่างการแลกเปลี่ยนในเวที
 
   สานใจฟอรั่มนับเป็นหนึ่งรูปธรรมของการขับเคลื่อนมติสมัชชาแห่งชาติ ว่าด้วยการสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยการประสานภาคส่วนต่างๆ ให้มาร่วมมือกัน โดยในเวทีมีการนำเสนอตัวอย่างจากชุมชนที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในพื้นที่แล้วประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง โดยมีกรณีที่น่าสนใจ อาทิ
 
   การสร้างนวัตกรรม 5G EMS (Emergency Medical Services) ที่เทศบาลแม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก หัวหน้าฝ่ายบริการสาธารณสุขเทศบาลแม่จะเรา และผู้ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชน กิตติคุณ ยศบันเทิง เล่าว่า พื้นที่แม่จะเรามีผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กำหนดมาตรฐานการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินไว้ที่ราว 8 นาที แต่หน่วยงานในพื้นที่ใช้เวลาถึง 15-20 นาที จึงเชิญหลายฝ่ายมาร่วมวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออก ได้ผลลัพธ์เป็น 5 G คือ Guideline แบบฟอร์มให้ผู้ไปรับผู้ป่วยสอบถามข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นก่อนส่งต่อ รพ. ทำให้แพทย์เตรียมรองรับได้รวดเร็ว, Gadget จัดทำปุ่ม SOS ให้ผู้ป่วยกดปุ่มเดียวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะมีผู้ป่วยที่เสี่ยงเจ็บป่วยฉุกเฉินและอยู่เพียงลำพังถึง 112 คนในชุมชน, GIS Data นำประวัติคนป่วยใส่ในระบบออนไลน์พร้อมพล็อตจุดที่อยู่อาศัย โดยให้ อสม. อัพเดทข้อมูลสุขภาพให้ทุก 6 เดือน, GPS ติดตามรถฉุกเฉิน ทำให้ช่วยลดอุบัติเหตุ, Google Map ช่วยประเมินเวลาในการเดินทาง
 
   “ผลที่เกิดขึ้นหลังนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการแพทย์ฉุกเฉิน เราลดระยะเวลาการรับส่งได้อยู่ที่ 4 นาที ความแม่นยำของข้อมูลอยู่ที่ 98% ทั้งหมดที่ทำมาก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ความศัทธา ระหว่างภาครัฐ องค์กรเอกชน และประชาชน เราสามารถระดมทุนจากหลายส่วน หลังจากเขาเข้าใจว่าดิจิทัลทำอะไรได้บ้าง” กิตติคุณ กล่าว
 
   ด้าน วรพชร วงษ์เจริญ ตัวแทนจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด จ.จันทบุรี เล่าว่า เป็นรุ่นที่สองที่เข้ามาช่วยงานเกษตรอินทรีย์ของบิดาคือ ดร.ธีระ วงษ์เจริญ ซึ่งมีสมาชิกเกษตรอินทรีย์จำนวนมากอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มผนวกเรื่องนี้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัล โดย 2 ปีที่ผ่านมาได้รับทุนจาก CAT ทำโรงเรือนอัจฉริยะ มีการใช้เทคโนโลยีในการวัดความชื้นของดิน ทำระบบรดน้ำอัตโนมัติ วัดแสง วัดอุณหภูมิ ใช้แอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนวัดอุณหภูมิในการเผาถ่านน้ำส้มควันไม้ ฯลฯ นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ซึ่งช่วยขยายตลาดได้มาก ส่งผลให้กลุ่มฯ สามารถผลักดันสินค้าไปขายยังโรงพยาบาล ซูปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ฯลฯ มีการขายออนไลน์ มีข้อมูลของสินค้าโดยการติดแท็กผลไม้เพื่อให้ทราบว่าผลิตผลนั้นมาจากสวนของใคร ตัดวันไหน สุกเมื่อไร ตลอจนการสร้างเพจในการส่งเสริมการขายและให้ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์และเกษตรอินทรีย์แก่ผู้บริโภคไปด้วยในตัว
 
   บุญตา สืบประดิษฐ์ นำเสนอแม่แจ่มโมเดล จ.เชียงใหม่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการแก้ปัญหาพิพาทระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของประชาชน โดยหัวใจสำคัญคือการดึงหน่วยงานรัฐและประชาชนมาทำข้อมูลการสำรวจร่วมกัน ทั้งนี้ภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่ป่ามากที่สุดของประเทศและมีกรณีพิพาทที่ดินมากที่สุดเช่นกัน จากการสำรวจในพื้นที่แม่แจ่มพบว่ามีชุมชนที่อาศัยในเขตเขตป่าถึงราว 3,000 ชุมชน จากทั้งหมด 11,000 ชุมชน นอกจากนี้ในอดีตพื้นที่แม่แจ่มยังมีปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างหนัก เมื่อมีการสำรวจพื้นที่ร่วมกันว่าตรงไหนคือที่ทำกินชาวบ้าน ตรงไหนคือพื้นที่ป่าแล้วจึงใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ (MIS) พร้อมจัดทำเป็นแอพลิเคชั่นในการแก้ปัญหาหมอกควันซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดี กระทั่งในปี 2562 ที่ปัญหาก็กลับมาอีกครั้ง
 
   “ถ้าจะไปให้พ้นจากปัญหานี้จริงๆ ต้องไปทั้งระบบ เรื่องสิทธิ เรื่องหนี้สิน เรื่องอาชีพ แล้วดูว่าระบบข้อมูลดิจิทัลจะซัพพอร์ตตรงนี้อย่างไร ชุมชนจะเข้มแข็งได้อย่างไร หน่วยงานอื่นๆ จะสนับสนุนอย่างไร” บุญตา กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ