ปลุกชุมชนประเมินผลกระทบสุขภาวะ ขับเคลื่อน HIA ‘โรงไฟฟ้าขยะ-อีอีซี’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   การประเมินด้านผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA (Health Impact Assessment) ได้รับการรับรองสิทธิโดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นเครื่องมือที่ประชาชนสามารถนำไปใช้วิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงาน ยุทธศาสตร์ โครงการ หรือกิจกรรมของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาหรือลงทุนเพื่อการสาธารณะ
 
   ผ่านมากว่า ๑๑ ปี นับตั้งแต่ HIA ถูกนำมาใช้ครั้งแรกและย่างเข้าสู่ทศรรษใหม่ เครื่องมือนี้ก็ยังคงเป็นกระบวนการที่ต้องขยายวง เผยแพร่ และให้ความรู้แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำประชาชนให้รับรู้ถึงสิทธิของตนเอง นำมาสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) หัวข้อ ‘HIA กับการจัดการขยะเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน’ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
 
   “HIA เปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้ทั้ง ๖ ขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนโครงการเกิด ระหว่างโครงการดำเนินงาน หรือดำเนินการแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ หรือกระทบมากขึ้น” สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุ
 
   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่เป็นกลไกศูนย์กลางสนับสนุนให้ประชาชนใช้ HIA ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๙ เป็นเแนวทางขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและตัดสินใจนโยบายสาธารณะที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ :ซึ่งหลายๆ พื้นที่พิสูจน์มาแล้วว่า สามารถนำ HIA ไปใช้ได้ดีในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทุกๆ ระยะโครงการ อาทิ เหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลยและพิจิตร, เหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี, โรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสุรินทร์, โรงงานยางพารา จังหวัดเพชรบูรณ์ ฯลฯ
 
   ในส่วนของการนำ HIA ไปใช้ในการจัดการขยะ นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล กรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) อธิบายว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะจัดการปัญหาขยะโดยนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งแม้จะมีข้อดีคือทำให้ปริมาณขยะลดลง หากยังมีข้อห่วงกังวลในเรื่องการก่อมลภาวะ อันเป็นที่มาของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) ในหัวข้อ “HIA กับการจัดการขยะเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2561 ณ โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ ทั้งผู้ก่อขยะ นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐ มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ และทำความเข้าใจกระบวนการ HIA เพื่อการปรับใช้ HIA กับแผนงานหรือโครงการต่างๆ ในชุมชนตัวเอง
 
   สุขสวัสดิ์ วงศ์เตชะ ปลัด อบต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งเสียงที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีที่ให้ความสำคัญกับประเด็น นโยบายจัดการขยะ เพราะมีปริมาณขยะเทกองบริเวณพื้นที่หนองสาหร่ายเพิ่มขึ้นจาก ๒ แสนตัน ในปี ๒๕๕๗ เป็น ๔ แสนตัน ในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้แนวทางลดปริมาณโดยมุ่งเน้นการทำโรงไฟฟ้าบริเวณใกล้เคียง ซึ่งยอมรับว่าน่าเป็นห่วง เพราะถ้าใช้เทคโนโลยีไม่ดีพอ จะเกิดปัญหามลภาวะอย่างที่หลายๆ พื้นที่ประสบมาแล้ว ประกอบกับนโยบายรัฐที่ผ่อนปรนให้โครงการโรงไฟฟ้ากำจัดขยะขนาดต่ำกว่า ๑๐ เมกะวัตต์ จัดทำเพียง Code of Practice หรือ หลักปฏิบัติในการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เต็มรูปแบบ
 
   “ก่อนจะปักธงไปที่ทำโรงไฟฟ้าขยะ เราควรมีการคัดแยกขยะจากกองเหล่านั้นก่อน เพื่อนำไปรีไซเคิลและกลับมาใช้ใหม่ หรือผลิตเป็นปุ๋ย แล้วค่อยนึกถึงการทำโรงไฟฟ้าเป็นมาตรการสุดท้าย”
 
   จากการร่วมเวทีครั้งนี้ ทำให้สุขสวัสดิ์คิดที่จะนำเครื่องมือ HIA ไปใช้อย่างจริงจังในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและชี้ชะตาโครงการใหญ่ๆ ที่จะตั้งขึ้นในบ้านเกิดได้อย่างอิสระ โดยไม่มีการวางเป้าหมายหรือมีธงมาก่อนว่า “โครงการนั้นต้องเกิด”
 
   ไม่เพียงเฉพาะประเด็นการจัดการขยะ หาก HIA ยังเป็นเครื่องมือที่ภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้กับการพัฒนานโยบายสาธารณะในประเด็นอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่ง นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ระบุว่า
 
   “การนำ HIA ไปใช้ในนโยบายการจัดการปัญหาขยะทั่วประเทศ จะเป็นส่วนหนึ่งของเวที HIA Forum ครั้งใหญ่ที่จะจัดขึ้นในปีหน้า ซึ่งรวบรวมการใช้เครื่องมือ HIA กับหลายๆ ประเด็นสาธารณะที่สำคัญ เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสังคม รวมไปถึง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลจะดำเนินการใน ๓ จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่จะจัดแลกเปลี่ยนในระยะต่อไปด้วย”
 
   จะเห็นว่า HIA นับเป็นเครื่องมือที่ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชนสามารถนำไปใช้ได้กับ นโยบายสาธารณะ ใกล้ตัว ใกล้บ้าน จนถึงโครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศ เช่น นิคมอุตสาหกรรม EEC หรือนโยบายการกำจัดขยะ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่นำไปสู่การกระจายความเจริญทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ