สช.-สธ.เคลื่อนขบวนสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ ตั้งเป้ายกระดับทุกวัดภายใน 5 ปีข้างหน้า | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ภาคีร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ผนึกกำลังสร้างสถาบันสงฆ์ไทยให้เข้มแข็ง เดินหน้าโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพทั่วประเทศ ๒๙,๐๐๐ แห่ง และสร้างพระ อสว. ทุกตำบลใน ๕ ปีข้างหน้า วอนญาติโยมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมถวายอาหาร เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ หลังพบโรคจากการบริโภครุมเร้า
 
   เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในงานแถลงข่าว “การดูแลสุขภาพพระสงฆ์” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ณ วัดพุทธปัญญา จังหวัดนนทบุรี ว่า ขณะนี้องค์กรภาคีที่ร่วมขับเคลื่อน ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ทั้ง ๕ หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศให้บรรลุผล
 
   ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ได้ใช้ หลักทางธรรมนำทางโลก ในการดำเนินงาน ๓ ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ๑.การดูแลสุขภาพตนเองของพระสงฆ์ เช่น การฉันอาหารหรือการขยับกายที่เหมาะสมตามฐานานุรูป ๒.การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพโดยญาติโยม เช่น การใส่บาตร การถวายอาหารหรือน้ำปานะ หรือการดูแลกรณีพระสงฆ์เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น และ ๓.บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำส่งเสริมสุขภาพชุมชนและสังคม
 
   “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ประกาศใช้แล้ว มีแผนดำเนินงานที่ทุกองค์กรภาคี ได้พยายามคิดให้เกิดรูปธรรม อาทิ กรมอนามัย ได้ผลักดันให้เกิดวัดส่งเสริมสุขภาพ มีวัดต้นแบบหนึ่งตำบลหนึ่งวัด ซึ่งปัจจุบันเรามี ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ ตำบล และอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็นทุกวัดทั้ง ๒๙,๐๐๐ แห่ง”
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า เป้าหมายของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ คือ ทำให้พระสงฆ์กลับมาเข้มแข็ง เป็นเสาหลักทางจิตใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น วัดเป็นสถานที่สร้างเสริมสุขภาวะ สงบ ร่มรื่น เป็นเสาหลักทางจิตวิญญาณให้ประชาชนที่เดือดเนื้อร้อนใจ สามารถเข้าไปปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ หรือสวดภาวนาได้
 
   “ปัญหาสำคัญคือ พระสงฆ์มีพระธรรมวินัย ไม่สามารถเลือกอาหารฉันได้ ดังนั้น ญาติโยมสำคัญมาก ต้องช่วยรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ด้วย เช่น อาหารทำบุญตักบาตร ควรเปลี่ยนจากอาหารทางโลกเป็นอาหารสุขภาพหรืออาหารทางธรรมที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ”
 
   ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ โดยเริ่มโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพแล้ว ๔,๐๐๐ แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเป็นทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตร พระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (พระ อสว.) ทุกตำบลและใน ๕ ปีข้างหน้าจะมีพระ อสว. ทุกวัด เป็นแกนหลักขับเคลื่อนดูแลสุขภาพตามหลักธรรมวินัย พร้อมส่งเสริม สื่อสาร สร้างความรอบรู้ ให้ชุมชนรอบๆ วัดคิดถึงสุขภาพพระสงฆ์
 
   พระมหาทวี โพธิเมธี เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันพระมีปัญหาสุขภาพมาก เช่น ไขมันส่วนเกินและอีกหลายโรค เพราะญาติโยมมุ่งทำบุญวันสำคัญทางศาสนา เช่น มาฆบูชา ก็จะเตรียมอาหารที่ดีที่สุด อร่อยที่สุด จึงเชิญชวนให้ ลด ละ รสหวานมันเค็ม ส่วนการออกกำลังกาย พระมีการเดินจงกลม กวาดลานวัด หรือเดินบิณฑบาต ถือว่าเพียงพอ แต่อาจทำได้ไม่เต็มที่เหมือนฆราวาสทั่วไป
 
   “ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๐ ต่อไป เพราะเมื่อพระมีสุขภาพดี คนก็สุขภาพดีไปด้วย ดังนั้นหากมีวัดส่งเสริมสุขภาพได้ทุกแห่งก็ยิ่งดี”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ