สช. ผนึกภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เดินหน้ายุทธศาสตร์หยุดปัญหา‘เชื้อดื้อยา’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สช. เผยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” สร้างความตื่นตัวทุกภาคส่วนในสังคม สานพลังเดินหน้าแก้ปัญหาและให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง เตรียมจับมือ ๒๘๐ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด รณรงค์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับโรงพยาบาล อสม. และกระทรวงสาธารณสุข
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมเป็นภาคีในการจัด “โครงการรณรงค์สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย” ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมเสวนาและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา
 
   นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของคนไทยอย่างมาก และไม่สามารถแก้ไขโดยหน่วยงานใดลำพังได้ ต้องอาศัยกระบวนการ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศเข้ามา สานพลัง และเปิดพื้นที่ในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อนำไปสู่นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
 
   โดย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้มีฉันทมติประเด็น “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การแก้ปัญหา โดย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป
 
   “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมกันพัฒนา แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๙–๒๕๖๑ เสนอต่อ ครม. และได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม มี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นหน่วยงานดำเนินงานหลัก โดยบทบาทของ สช. ที่เป็นฝ่ายประสาน สนับสนุนการขับเคลื่อน จะทำการติดตามการดำเนินงานตามมตินี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณะได้ทราบต่อไป”
 
   รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะมีการขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างจริงจังในระดับพื้นที่ โดยมี สมัชชาสุขภาพจังหวัด ทั่วประเทศ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพอีกกว่า ๒๘๐ เครือข่าย หรือ ๙๐๐ องค์กร เป็นกลไกช่วยทำงานในระดับชุมชนร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งขณะนี้ สธ. มีนโยบายชัดเจนแล้ว อาทิ โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หรือ RDU Hospital เพื่อปรับลดอัตราการสั่งยาปฏิชีวนะ ใน ๓ โรคที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ประกอบด้วย โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส , โรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ และบาดแผลทั่วไป ทั้งนี้ เชื่อว่าการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคสวนจะทำให้ปัญหาลดลงได้อย่างรวดเร็ว
 
   “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะเดินหน้าสนับสนุน และติดตามการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้มีการรายงานความก้าวหน้าต่อ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี ๒๕๖๐”
 
   นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้วางเป้าหมายที่จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง ๕๐% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในคน ๒๐% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ ๓๐% ขณะที่ประชาชนต้องยกระดับความรู้ที่ถูกต้องและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ อย. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นในการยกเลิกรายการยาต้านจุลชีพจากการเป็นยาสามัญประจำบ้านเพื่อควบคุมการใช้ และตามแผนยุทธศาสตร์ฯ จะมีการประกาศปรับปรุงประเภทยาต้านจุลชีพ ๑ ฉบับ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องควบคุมการผลิต ขาย ใช้ยาต้านจุลชีพที่ผสมในอาหารสัตว์อีก ๑ ฉบับ ตามมาด้วย
 
   รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลในเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ ได้รณรงค์การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลอย่างจริงจัง โดยสนับสนุนให้แพทย์สั่งจ่ายยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะคนไข้ ๘๐-๙๐% ที่เป็นโรคหวัดติดเชื้อไวรัสสามารถหายได้เอง
 
   “นอกเหนือจากการรณรงค์ในกลุ่มวิชาชีพแพทย์แล้ว ประชาชนต้องมีความเข้าใจ และไม่กดดันให้แพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น รวมถึงการทิ้งยาเหลือใช้อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของการติดเชื้อดื้อยาด้วย”
 
   ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า กพย.ได้สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๔ แล้ว โดยรณรงค์ในหลายภาคส่วน งบุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลชุมชนมากกว่า ๓๐ จังหวัด และโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในระดับพื้นที่ พร้อมทำงานกับโรงเรียนนำร่อง เพื่อขยายเครือข่ายการทำงาน
 
   ขณะที่ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้เข้าสนับสนุนในการพัฒนาชุดความรู้และเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และสนับสนุนการขับเคลื่อนร่วมกับองค์การอนามัยโลก และประเทศต่างๆ รวมถึงสื่อความรู้ต่างๆ เช่น หยุด ๑๐ พฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เป็นต้น
 
   รศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากการร่วมรณรงค์แล้ว มูลนิธิได้เสนอเรื่องให้ อย. เร่งรัดการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา รูปแบบยา เช่น ยาอมผสมยาต้านแบคทีเรีย เพราะไม่ได้ผลในการรักษาและทำให้เกิดเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย รวมถึงยกเลิกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภท สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน เจลล้างมือที่ผสมสารเคมีฆ่าเชื้อ ได้แก่ ไตรโคลซาน สารอื่นๆ อีก ๑๘ ชนิด ซึ่งมีรายงานวิจัยยืนยันแล้วว่าสารเหล่านั้นทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย รวมถึงเรียกร้องให้รัฐควบคุมการใช้ยาต้านแบคทีเรียในปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเกษตร ให้ใช้ยาเพื่อรักษาเท่านั้น ไม่ใช้เพื่อการป้องกันและเร่งการเจริญเติบโต และห้ามปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์สู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการบำบัด
 
   “มูลนิธิฯ ยังเรียกร้องบริษัทเอกชนให้ยกเลิกการผสมยาต้านแบคทีเรียในยาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นเพราะจะสร้างผลเสียมากมายตามมา ซึ่งจะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility : CSR) อย่างแท้จริง”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ