ประสบการณ์ดีๆ...ลำสนธิโมเดล สานพลังภาคี ร่วมดูแลสุขภาวะชุมชน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   “แผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน” เป็นหนึ่งใน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ถือเป็นการรวมพลังหลายภาคส่วน หลายหน่วยงาน ที่มีบทบาทสร้างสุขภาวะ และเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน
 
   มตินี้เปรียบได้กับการ “รวมแสงเลเซอร์” ที่มุ่งสู่เป้าหมายได้อย่างมีพลัง บูรณาการทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่สังคมที่มีสุขภาวะอย่างยั่งยืน ทั่วประเทศ
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน ได้จัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนมติฯ นี้ มาอย่างต่อเนื่อง นับจากเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้า และประสบการณ์การทำงาน เพื่อพัฒนาช่องทางการเชื่อมโยงงานเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนระหว่างภาคีเครือข่าย ภายหลังการลงนามใน “ปฏิญญา” สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ ร่วมกับ ๓๓ องค์กรภาคี เพื่อเป็นพันธะสัญญา ร่วมใจกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาสุขภาวะชุมชน ในระยะ ๕-๑๐ ปีข้างหน้า
 
   ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคมที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ คณะทำงานขับเคลื่อนฯ จัดประชุมเพื่อรับฟังประสบการณ์ดีๆ จากแพทย์ชนบทดีเด่น อย่าง นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี ที่มาบอกเล่าตัวอย่างของความสำเร็จ ในชื่อหัวข้อว่า “ลำสนธิโมเดล ต้นแบบหมอประจำครอบครัว”
 
   ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๔๙ หลังจาก นพ.สันติ ออกตระเวนเยี่ยมชุมชน และพบเห็นภาพของ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด แต่กลับพบว่าส่วนใหญ่ ยังไม่มี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีเพียงพอ
 
   คุณหมอจึงกลับมาคิดทบทวน หาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชน ด้วยการวางระบบที่เรียกว่า แคร์ทีม (Care Team) เป็นการผนึกกำลังของ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ร่วมไม้ร่วมมือ เข้าไปดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ ถึงบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ ไปถึงกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำหรือป้อนอาหาร เป็นต้น
 
   และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน ...คุณหมอได้ขยายบทบาท ไปสู่การสร้าง นักบริบาลในชุมชน (Caregiver) ที่อาศัยคนในท้องถิ่น ที่ผ่านการอบรมและประเมินผลจากโรงพยาบาล โดยมี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้ามาสนับสนุนค่าตอบแทนให้เดือนละ ๕,๐๐๐ -๕,๕๐๐ บาท
 
   จวบจนปัจจุบัน มีนักบริบาลท้องถิ่น เกิดขึ้นแล้วกว่า ๓๐ คน กระจายอยู่ทุก อบต. และทำงานแบบเต็มเวลา ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ป่วยจิตเวช เด็กที่มีภาวะพร่องในการเรียนรู้ (LD) โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลลำสนธิ คอยเป็นพี่เลี้ยง กำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือ
 
   กลายเป็น “ลำสนธิโมเดล” ที่มีการกล่าวขานกันอย่างกว้างขวางจนทุกวันนี้ ...ได้รับการยกย่องจากหลายภาคส่วน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ และมีผู้มาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน กล่าวว่า การที่ลำสนธิ สามารถดำเนินการได้สำเร็จ มาจากปัจจัยที่สำคัญก็คือ ความร่วมมืออย่างจริงจัง ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล สถานีอนามัย , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
 
   “ลำสนธิ โมเดล มีฐานสนับสนุนการทำงานที่แข็งแรง จากความร่วมมือของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์กรชุมชนที่เข็มแข็งในพื้นที่ รองรับกว่า ๑๖๐ องค์กร อาทิ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และองค์กรสวัสดิการชุมชน เป็นต้น พร้อมทั้งยังมีการหนุนเสริม จากองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมจากภายนอก มูลนิธิต่างๆ มาช่วยแบ่งเบาภาระการขับเคลื่อนงานของ นพ.สันติ ได้เป็นอย่างดี”
 
   นอกจากนั้น การที่ลำสนธิ สามารถเดินหน้าทำงานได้เต็มพื้นที่ ไม่ได้ทำเฉพาะจุดเล็กเท่านั้นๆ แต่เกิดจากการมองปัญหาในภาพรวม และพัฒนาให้เป็นระบบ โดยเฉพาะตัวคนทำงาน เริ่มจาก “จิตอาสา” เพื่อดูแลคนในชุมชน เรียนรู้ทักษะ ไปสู่ “สัมมาชีพ” หรืออาชีพดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ที่มีค่าตอบแทนชัดเจน ทำให้การทำงานเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
 
   “การทำงานให้ได้แบบลำสนธิโมเดล หน่วยงานอื่นๆ จะต้องเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น ทั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และอนาคต ประเด็นที่เกี่ยวกับ การดูแลผู้สูงอายุ อาจกลับมาเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ ภายใต้เครื่องมือใหม่ๆ ต่อไป”
 
   หลังจากการนำเสนอประสบการณ์โดย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำสนธิ จ.ลพบุรี เรียบร้อยแล้ว ทางภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุม ต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อ “แชร์ความรู้” นำไปต่อยอด ดำเนินการในพื้นที่
 
   รวมถึงเสนอ ช่องทางที่จะเชื่อมโยงงานองค์กรตนเองกับลำสนธิเพื่อให้กลายเป็นโมเดล ที่สามารถสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ
 
   พญ.ประนอม คำเที่ยง คณะทำงานขับเคลื่อนมติฯ และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ลำสนธิโมเดล ถือเป็นต้นแบบที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังนำไปขยายผลให้เกิดขึ้นในทุกๆ ตำบล ในประเทศไทย
 
   ขณะที่ผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่ เห็นด้วยที่จะ “ถอดบทเรียน” การทำงานของพื้นที่ลำสนธิอย่างจริงจัง เพื่อสรุปเป็นชุดความรู้ ให้เห็นปัจจัยความสำเร็จ และเครื่องมือต่างๆ ที่จะนำมาพัฒนาไปสู่ “คู่มือ” ให้ทุกพื้นที่ นำไปเป็นแนวทางดีๆ ในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ