ปฏิรูประบบสุขภาพ เปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนไทย สช. จัดใหญ่ 'ประชุมวิชชาการ 9 ปี' มิ.ย.นี้ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   นพ.มงคล เผยการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย หนุนภาคประชาชนตื่นตัวครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนและออกแบบนโยบายสาธารณะได้ตรงกับความต้องการ พร้อมจัดประชุมวิชชาการ 9 ปี สช. วันที่ 10-12 มิ.ย.นี้ หวังแลกเปลี่ยนบทเรียน สร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง รับมือความเหลื่อมล้ำและภัยคุกคามอนาคต
 
   นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการจัดงานประชุมวิชชาการ 9 ปี สช. เปิดเผยว่า การปฏิรูประบบสุขภาพในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดทั้งในเชิงแนวคิดและมุมมองจากทุกภาคส่วน ที่แต่เดิมมุ่งขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เรียกว่าการ ซ่อมสุขภาพ มาเป็นแนวทาง สร้างนำซ่อม โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีหน้าที่ดูแลสุขภาพ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนและสร้างหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง อาทิ การเกิดขึ้นของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และขับเคลื่อนสนับสนุนภาคประชาชนให้เข้มแข็ง
 
    นพ.มงคล กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้สร้างเครื่องมือในการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ ผ่าน กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนในสังคม มีสิทธิ มีเสียง ในการนำเสนอนโยบายสุขภาพ ปรับรูปแบบการเสนอจาก “บนลงล่าง” สู่ลักษณะของ ล่างขึ้นบน กลายเป็นปรากฏการณ์ความตื่นตัว ให้ชาวบ้าน ชุมชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ มาจนถึงปัจจุบันที่ปรับตัวเข้าสู่การจัดการแบบเครือข่ายแล้ว
 
   สุขภาพไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขหน่วยงานเดียวแล้ว แต่การกำหนดนโยบายของหน่วยงานอื่นๆ ก็ต้องคำนึงถึงสุขภาพด้วย และยังเปลี่ยนไปจากในอดีต ที่เราไม่มีพื้นที่หรือเครื่องมือให้ประชาชนและทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางหรือนโยบายเพื่อดูแลสุขภาพ แต่เมื่อมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ประชาชนสามารถเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันขับเคลื่อนได้
 
   ในโอกาสที่การดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ กำลังก้าวขึ้นสู่ปีที่ 9 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงเห็นควรให้มีจัด การประชุมวิชชาการ ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช ในวันที่ 10-12 มิ.ย. 2558 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อรวบรวมความรู้ที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการทำงาน และพัฒนาการที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยน และยกระดับความรู้ในสังคม
 
   ประธานกรรมการจัดงานประชุมวิชชาการ 9 ปี สช. กล่าวว่า เวทีการประชุมจะฉายภาพให้เห็นผลพวงจากการการปฏิรูประบบสุขภาพที่เชื่อมโยงไปกับหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการสร้างจิตสำนักประชาธิปไตยให้แก่สังคมผ่านกลไกกระบวนการพัฒนานโยบายด้าน “สุขภาพ” โดยวิทยากรที่หลากหลาย, ลานนิทรรศการ และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกรณีศึกษาต่างๆ ในระดับพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่การถ่ายทอดจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เท่านั้น แต่ยังมีองค์กรเจ้าภาพร่วม 11 องค์กร เช่น กระทรวงสาธารณสุข, สปสช., สสส., พอช., สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ ซึ่งล้วนมีประสบการณ์ทำงานที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพ ปฏิรูปประชาธิปไตย ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันมาร่วมด้วย
 
   แนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นกับพลเมือง มีส่วนร่วมออกแบบชีวิตและสุขภาพของเขาเองได้ เป็นทิศทางที่สอดคล้องไปกับการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน มาสู่ ประชาธิปไตยแบบทางตรง ที่เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น แนวคิดนี้จะสำเร็จได้ ต้องหนุนให้ประชาชนออกมาเอาธุระกับบ้านเมืองอย่างเต็มที่ หรือเรียกว่าสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยผ่านระบอบสุขภาพยุคใหม่
 
   นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มุมมอง ในการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ มากกว่าการซ่อมแซมสุขภาพ ซึ่งหลักการนี้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ที่ตามมาคือ การขยายความหมายของสุขภาพออกไปในมุมกว้าง ทำให้สุขภาพกลายเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน ต้องทำงานข้ามหน่วยงาน ข้ามองค์กรมากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีของสังคม จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องให้ความสนใจต่อทิศทางการพัฒนานโยบายสุขภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานประชุมวิชชาการ 9 ปี ซึ่ง สช. และองค์กรร่วมจัด ได้เชิญบุคคลสำคัญทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ นักธุรกิจ หรือประชาชน ที่อยู่ในภาคส่วนของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ มานำเสนอมุมมองและประสบการณ์ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มาเป็นประธานเปิดงาน และมีนักวิชาการชั้นนำ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ อาทิ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะปาฐกถานำในเรื่อง ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย เพื่อความอยู่รอดในโลกอนาคต และ ศ.ธีรยุทธ บุญมี จะปาฐกถาปิดในหัวข้อ พลังพลเมือง สร้างสังคมสุขภาวะ
 
   การเสวนาในห้องประชุมใหญ่ มีประเด็นหลักๆ เช่น “การปฏิรูปสุขภาพ เส้นทางสู่จิตสำนึกประชาธิปไตย” โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เวทีเสวนา “ลดความเหลื่อมล้ำ ทางออกที่ต้องไปให้ถึงของประชาธิปไตยไทย” โดยสามสมาชิกสภาปฏิรูป คือ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์, ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ และ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ รวมถึงการเสวนาเรื่อง “สมดุลของการอภิบาลระบบสุขภาพ ที่มี ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากทีดีอาร์ไอ, นพ.โสภณ เมฆธน, นพ.ชาตรี ดวงเนตร และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ มาร่วมพูดคุย เป็นต้น
 
   นอกจากนี้ ยังมีห้องย่อยที่น่าสนใจ เช่น กระตุกต่อมคิด: กระจายอำนาจแล้ว ใครรับผิดชอบสุขภาวะประชาชน โดยสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) การนำเสนอแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการจัดการความขัดแย้ง และรูปแบบใหม่ๆ ของการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงลึก ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง” จากกรณีศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า อันเป็นแนวทางสำคัญที่ใช้ในการพัฒนา เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งกำลังจะมาเป็นส่วนหนึ่งของการอภิบาลระบบสุขภาพรูปแบบใหม่ เป็นต้น
 
   “สช. เชื่อว่าชุดความรู้ที่ได้จากการประชุมวิชชาการ 9 ปี ครั้งนี้ในทุกๆ เวที จะเป็นประโยชน์ทั้งการมองย้อนกลับไปในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปในอนาคต นำไปสู่การวางแนวทางเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมให้ดียิ่งขึ้น รับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเหลื่อมล้ำของโลกอนาคตที่นับวันจะมีภัยคุกคามสุขภาพคนไทยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ โรคระบาดข้ามพรมแดนจากการเปิดเสรีระหว่างประเทศ AEC รวมถึงการรับมือภาวะสังคมชราภาพ
 
   รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการจัดการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ กล่าวว่า ในส่วนของลานกิจกรรมหลักๆ จะสะท้อนความตื่นตัวที่เพิ่มขึ้นของภาคประชาชน ที่เข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมต่อกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ผ่านเครื่องมือต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ทั้ง ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ และการใช้สิทธิด้านสุขภาพ
 
   การประชุมครั้งนี้จะสะท้อนผลการขับเคลื่อนนโยบายในระดับชาติ และกระบวนการพัฒนาสมัชชาสุขภาพจังหวัด และธรรมนูญสุขภาพในระดับพื้นที่ อีกมากมายหลายแห่ง มาแสดงและแลกเปลี่ยนกัน เพราะความเข้มแข็งของพลเมือง ต้องผ่านการปฏิบัติการจริง ลดการพึ่งพาภาครัฐหรือคอยแต่ร้องขออย่างเดียว
 
   รศ.วิลาวัณย์ กล่าวว่า ในส่วนของลานกิจกรรมในวันงานจะประกอบด้วยกัน 2 ส่วน คือ ลานนิทรรศการ และเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลาง (Share & Learn) ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมและลงทะเบียนแล้วกว่า 1,000 คน แต่ สช. เปิดโซนนี้ทั้งหมดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้ามาเดินชมและร่วมแลกเปลี่ยน ซักถาม เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปถ่ายทอดต่อให้กับชุมชนหรือผู้รับผิดชอบในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน เพื่อติดต่อเรียนรู้เชิงลึกกันต่อไปได้ นอกจากนี้ก่อนการจัดงานยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานให้กับภาคีเครือข่ายสำคัญในอนาคต นำความรู้ไปยกระดับการทำงานด้วย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144

รูปภาพ