ปิ๊ง! เขตสุขภาพไฉไลไม่มีใครแย้ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

สกู๊ปหน้า1: ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประเทศไทยกับ “การปฏิรูประบบสุขภาพ”…ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ในขณะนี้ระบบสุขภาพของประเทศเรา คนไทยทุกคนเจ็บป่วยมีสิทธิที่ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลโดยรัฐ หลักๆ 3 กองทุน
สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ, กองทุนประกันสังคม สำหรับกลุ่มประชาชนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และประชาชนธรรมดาที่ได้รับการดูแลโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่าน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นับเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย แต่สามารถที่จะจัดบริการสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนคนไทยได้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) วันนี้ดำเนินการมา 12 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ดัชนีชี้วัดหลายตัวระบุว่า คุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น ด้านการเจ็บป่วย
ข้อมูลสำคัญนั่นก็คือ… การที่คนไทยล้มละลายด้วยการเจ็บป่วยลดลง
“ระบบที่เกิดขึ้นมีการปรับเปลี่ยนภาระหน้าที่ภายในกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก เดิมดูแลอยู่แต่เพียงผู้เดียวทั้งจัดการบริการและให้บริการ แต่พอมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นคนจัดซื้อบริการ (Purchaser) กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้บริการ (Provider)…ซึ่งแยกกัน”
เพื่อให้หลักประกันว่าประชาชนคนไทยได้รับการบริการในสิ่งที่ควรจะได้รับ…ที่เป็นมาตรฐาน…ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเฉพาะนโยบายของผู้ให้บริการเท่านั้น
ประเด็นสำคัญ “กองทุน”…ที่เป็นเงินจำนวนมากได้รับการดูแลอย่างมี “ธรรมาภิบาล”…โอกาสที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็ลดน้อยลง คณะกรรมการฯจากหลายภาคส่วน กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องจากภาคประชาสังคม…วิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ จะช่วยกันตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ช่องว่างใช้เงินในทางที่ผิดเกิดขึ้นได้ยาก
ปมปัญหาช่วงปีที่ผ่านมาในเรื่องกลไกการบริหารจัดการ ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะๆ นับตั้งแต่จัดสรรงบให้หน่วยบริการ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ประชาชน หรือกลไกบริหารจัดการอื่นๆที่มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
“กระทรวงฯ กับ สปสช. ตามหลักแล้วจะต้องทำงานร่วมกัน ปรึกษาหารือกัน…อย่างใกล้ชิด”
เพื่อให้เห็นภาพลดการเหลื่อมล้ำในการรับบริการสุขภาพมี 2 พัฒนาการที่ต้องรู้
นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า เริ่มจากสิ่งที่เรียกว่าการประกันสุขภาพให้กับประชาชนไทย เดิมมีคนกลุ่มเดียวที่ได้รับคือข้าราชการกับญาติ ราว 20 กว่าปีที่แล้วก็มีระบบประกันสังคมเพิ่มให้กับกลุ่มคนที่มีนายจ้าง แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มที่ไม่มี
ก่อนหน้านั้นเราก็บอกว่าคนยากจนใช้วิธีการให้งบรายได้น้อย แล้วเข้ามารับบริการกับหน่วยบริการรัฐเท่านั้น สมัยนั้นอาจจะเรียกว่า “คนไข้อนาถา” มีคนพูดถึงกันเยอะ ก็เหมือนว่าจะมีหลักประกันแต่ไม่ใช่หลักประกันสิทธิ ในทางกลับกันก็จะมาถึงมุมที่สอง…รัฐบาลก็จัดสรรงบประมาณผ่านกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ใหญ่ที่สุด กระจายอยู่ทั่วประเทศ เมื่อได้เงินก็ส่งผ่านไปได้ทั่วถึง ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้โรงพยาบาลรัฐเก็บเงินชาวบ้านได้ด้วย สำหรับคนไหนมีความสามารถในการจ่ายค่ารักษาหรือไม่เข้าข่ายรายได้น้อย
“ระบบหลักประกันสุขภาพ” เกิดขึ้นด้วยเหตุผล 2 ข้อ หนึ่ง…น่าจะเปลี่ยนสิ่งที่เรียกว่ารายได้น้อยเป็นหลักประกันสุขภาพเพื่อให้มีสิทธิที่ชัดเจน คล้ายๆประชาชนกลุ่มหนึ่ง อีกเหตุผลหนึ่ง…คนไทยไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ได้ร่ำรวยมาก เจ็บป่วยก็มีสิทธิล้มละลายได้ด้วยโรคต่างๆ
เป้าหมายสำคัญ…เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันอย่างทั่วถึง เข้าถึงได้ และต้องการให้ประชาชนไม่ยากจน…ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษา เสียเงินเยอะแยะเวลาเจ็บป่วยรุนแรง
นายแพทย์สมศักดิ์ ย้ำว่า รัฐบาลก็มุ่งหวังดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ใช้หลักเดียวกันกับอีกสองระบบต้องให้เข้าถึงบริการรักษาทั้งภาครัฐ…เอกชน แล้วแต่ว่าจะไปจัดระบบหรือไปซื้อบริการ
แปลว่า…ถ้าเรามีเงินเท่านี้ รัฐอยากใช้เงินซื้อบริการด้วยเงินที่มีอยู่ ใครพร้อมที่จะให้บริการก็เอาเงินนี้ไปซื้อบริการนั้นให้ประชาชน ก็เกิดหน่วยงานที่ซื้อบริการขึ้นมา…มีกฎหมายกำหนดตั้ง สปสช.ขึ้นมา
เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องรัดกุม สร้างกลไกธรรมาภิบาล การตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจ…เป็นตัวแทนซื้อบริการให้ประชาชนแล้วทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง…ไม่ได้มองเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือมองให้เห็นชัดว่ากลุ่มไหนที่มีปัญหา ต้องแก้อย่างไร จะมีวิธีการแก้ปัญหา จัดการความต้องการบางอย่าง…ต้องแก้อย่างจริงๆจังๆอย่างไร
ออกมาในลักษณะ…“การจัดการกองทุน” โดย…“กลไกซื้อบริการ”
เงื่อนปัญหาที่ผ่านมาระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ยังดูเหมือนระอุกรุ่น…โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้งบของ สปสช.
“เมื่อมีคำถาม…สงสัยก็มีขั้นตอน กระบวนการตรวจสอบเกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา” นายแพทย์สมศักดิ์ ว่า “กองทุน…กฎหมายกำหนดเลยว่าต้องตรวจสอบและต้องรายงาน ช่วงหลังๆก็มีความเป็นห่วงกองทุนต่างๆ …กองทุนสวนยาง กองทุนเกษตรกร กองทุนยุติธรรม สารพัดกองทุน สี่… ห้าปีที่แล้วก็มีนโยบายให้มีการประเมินกองทุน เชื่อไหมว่ากองทุนที่มีศักยภาพดีก็คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพ สกว. สสส. ถูกประเมินในระดับดี…”
“การปฏิรูประบบสุขภาพ”…ที่ต้องเน้นย้ำทำความเข้าใจในเรื่อง “เขตสุขภาพ”…ดีหรือไม่อย่างไร?
คำจำกัดความ “เขตสุขภาพ”…หมายถึงว่า ปัจจุบันมีอยู่แล้ว เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข มีกลุ่มจังหวัด 4-5 จังหวัดต่อ 1 เขต มีทั้งหมด 12 เขต…รวมกรุงเทพมหานครก็เป็น 13 เขต
ในหลักการก็คือว่าในเขตสุขภาพที่มีหลายจังหวัดรวมกัน ภายในจังหวัดจะมีสถานบริการทางด้านสุขภาพซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข อาจมีของกระทรวงศึกษาธิการ ถ้าจังหวัดไหนมีโรงเรียนแพทย์อยู่ จะมีสถานบริการของกระทรวงกลาโหม…มีโรงพยาบาลค่าย แน่นอนจะมีสถานบริการของเอกชนรวมอยู่ด้วย
ในหลักการ คำว่า “เขตสุขภาพ”…ก็คือ ทรัพยากรทางด้านสุขภาพที่มีอยู่ เราควรที่จะมาใช้ร่วมกัน บูรณาการกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทรัพยากรเหล่านี้ก็เป็นของชาติทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นของเอกชน ของรัฐ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ บอกว่า ถ้าเราสามารถที่จะจัดระบบการบริหารจัดการได้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน เช่น สร้างระบบเมื่อเจ็บป่วยน้อยๆไปจนถึงหนัก เข้ารับบริการใกล้บ้านใกล้ใจ…ระดับปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน…ถ้าไม่ไหวอาการหนักก็ขยับขึ้นไปรักษาในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ โรงพยาบาลทั่วไป และระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาลศูนย์
“ถ้าเราสร้างระบบที่ค่อยๆใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในจังหวัด…ภายในเขตไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร ดูแลกันได้ คนไข้ก็จะไม่แออัดกระจุกตัวเฉพาะโรงพยาบาล…ไม่ต้องเดินทางมารักษาถึงกรุงเทพฯ แต่สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน ภาคสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มาช่วยกันดูแล”
ถ้าพูดอย่างนี้ในเรื่อง “เขตสุขภาพ”…พูดกับกลุ่มใดๆก็จะเห็นตรงกันหมด เป็นประโยชน์เกิดขึ้น
ท่าทีระอุร้อนในระดับผู้บริหารนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่มีต่อ สปสช.ดูจะคลี่คลายสลายขั้ว ก้าวต่อไปจากนี้คงจะเป็นมิติที่ดีในการปฏิรูประบบสุขภาพเมืองไทย.

รูปภาพ