ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสุขภาพ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ในขณะเวลานี้ ต้องถือว่า กระบวนการจัดทำแผนการปฏิรูป 11 ด้านและยุทธศาสตร์ชาติ 6 กลุ่ม ได้มาถึงขั้นตอนที่สามารถมองเห็นเป้าหมายที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างมากแล้ว
 
   สภาพัฒน์ หรือ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการใหญ่กำลังทำการสังเคราะห์ เชื่อมโยงและตรวจตราแผนปฏิรูปทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมของประธานและเลขานุการทั้ง 11 คณะในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกันก็ต้องจัดให้มีเวที 4 ภูมิภาคเพื่อรับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติตามที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย
 
   สำหรับ สช. และขบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรามีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะหนุนเสริมกระแสสังคมและนโยบายการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ในประเด็นปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
   คณะกรรมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนปฏิรูปที่ประกอบไปด้วย 6 กรอบประเด็นได้แก่ 1) ทรัพยากรทางบก 2) ทรัพยากรน้ำ 3) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4) ความหลากหลายทางชีวภาพ 5) สิ่งแวดล้อม และ6) ระบบบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
   ทรัพยากรทางบกนั้นหมายถึง ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรดิน และทรัพยากรแร่ ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์ใกล้ชิดกับปัญหาสุขภาพของประชาชน ชีวิตความเป็นอยู่และมักเกิดความขัดแย้งในชุมชนท้องถิ่นกันอยู่เนืองๆ
 
   ประเทศไทยมีเนื้อที่ 323 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่ 102.2 ล้านไร่ คิดเป็น 31.58% โดยในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา จาก พ.ศ. 2516-2559 พื้นที่ป่าของประเทศลดน้อยลงไปถึง 36.39 ล้านไร่ ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็น 3 ช่วง จะพบว่าอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าเริ่มลดลงไปมากแล้วทั้งนี้คงมีสาเหตุมาจากหลายประการ
 
   กล่าวคือ ช่วงปี 2516-2541 มีอัตราสูญเสียพื้นที่ป่า 2.2 ล้านไร่/ปี ช่วงปี 2543-2556 สูญเสีย 2.4 แสนไร่/ปี และช่วง 2557-2559 อันเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า การสูญเสียลดลงเหลือเพียง 3.6หมื่นไร่/ปี
 
   สาเหตุโดยตรงที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงและเสื่อมโทรมมากขึ้น คือการบุกรุกแผ้วถางป่า การเกษตร รีสอร์ท การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ชลประทาน ทางหลวง เหมืองแร่ ไฟฟ้า โทรคมนาคม ส่วนสาเหตุทางอ้อมได้แก่ปัญหาแนวเขตไม่ชัด ความยากจน สังคมขาดตระหนัก ประชากรเพิ่ม นโยบายที่ขัดแย้งกันเอง ปัญหาการปฏิบัติ สัมปทาน การบังคับใช้กฎหมาย ฯ
 
   ยังมีปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์จากที่ดินป่าอยู่อีก 15.0 ล้านไร่ แยกเป็นการครอบครองเดิม(ก่อนปี 2545-2546) 3.65 ล้านไร่ การครอบครองใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาต 2.33 ล้านไร่และครอบครองโดยได้รับอนุญาต 9.0 ล้านไร่
 
   สำหรับเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ภายในปี 2579 ควรมีพื้นที่ป่าเป็นสัดส่วน 40% หรือจำนวนรวม 129.2 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้ จัดเป็นป่าอนุรักษ์ 25% (80.75 ล้านไร่) และป่าเศรษฐกิจ 15% (48.45 ล้านไร่)
 
   ในเมื่อทิศทางนโยบายได้ถูกกำหนดแล้วโดยผ่านกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย หลายขั้นตอน ความท้าทายจึงมาอยู่ที่การขับเคลื่อน ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างสมานฉันท์เพื่อไปบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศ ตรงนี้แหละที่หลายฝ่ายมองว่ากระบวนการและภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติสามารถช่วยได้
 
   สถาบันลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นหน่วยงานใน ปตท. ที่ดำเนินงานให้รางวัลชุมชนคนรักป่ามายาวนานเกือบ 20 ปี ที่นั่นเขาสะสมองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและภาคีเครือข่ายในด้านการส่งเสริม สนับสนุนการดูแลรักษาป่าโดยชุมชนเป็นผู้ขับเคลื่อน และมีความเป็นไปได้ที่จะจับมือกันจัดให้มีสมัชชาสิ่งแวดล้อมและสังคมสุขภาวะในเร็วๆ นี้
 
   จากมุมมองส่วนตัว มีข้อเสนอเชิงหลักการและแนวทาง ดังนี้ครับ
1. ต้องยึดเจตนารมณ์ร่วมของชาติเป็นเป้าหมายใหญ่
2. ต้องใช้พลังชุมชนท้องถิ่นและสังคมเข้มแข็งเป็นแรงขับเคลื่อน
3. รักษาพื้นที่ป่าที่มีอยู่ให้มั่นคง ขยายเครือข่ายป่าชุมชนอย่างหลากหลาย
4.ส่งเสริมกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน5.พัฒนาและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และภูมิปัญญาจากพื้นดิน.

เอกสารแนะนำ

ทิศทางการปฏิรูปประเทศ กับความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (464)
ผลงานในทศวรรษที่สอง (449)
 

รูปภาพ