รวมพลังภาคี ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   ในที่สุดงานประชุมใหญ่ประจำปีของพี่น้องภาคีและเครือข่ายนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมก็มาถึงอีกวาระหนึ่ง
 
   ผมขอต้อนรับท่านสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 และพี่น้องประชาชนผู้มุ่งมั่นตั้งใจมาร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และกิจกรรมสำคัญของประเทศ
 
   สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ มีนัยที่สะท้อนการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และวิธีการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หลายประการ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากกรอบการดำเนินงานตามแผนงานหลักของ สช. ฉบับที่สอง (2555-2559) สู่ฉบับที่สาม (2560-2564)
 
   ประการแรก คือการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานรัฐระดับนโยบายอย่างน้อย 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย
 
   นอกจากนั้นยังมีการผนึกกำลังระหว่างองค์กรตระกูล ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในเชิงยุทธศาสตร์และนวัตกรรม อย่างน้อย 6 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
 
   การที่ สช. ได้เชิญ 6 กระทรวงหลัก และ 6 องค์กรตระกูล ส. มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในครั้งนี้ อีกด้านหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ขบวนปฏิรูปทุกระดับทั่วประเทศ รับทราบว่า ต่อนี้ไปงานปฏิรูปสุขภาพและปฏิรูปสังคมไทยจะเดินหน้าเคียงคู่กันไป โดยมี SDGs และประเทศไทย 4.0เป็นเป้าหมายปลายทาง
 
   ประการที่สอง กระบวนการสานพลัง สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (Participatory Public Policy Process based on Wisdom-4PW) จะเป็นแนวทางสายกลาง และเป็นทางสายหลัก ที่ภาคีเครือข่ายทางสังคมส่วนใหญ่ของประเทศใช้ในการทำงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปรับตัวร่วมกันไปบนเส้นทางการพัฒนา
 
   เครื่องมือขับเคลื่อนกระบวนการ 4PW ที่เกิดขึ้นตาม พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ทั้ง 4 ชิ้น ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิด้านสุขภาพในมิติต่างๆ ล้วนได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางทั่วประเทศ จนเกิดรูปธรรม ต้นแบบและนวัตกรรมทางสังคมที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการนำมาแสดงผลให้ชมกันอย่างจุใจในงานสมัชชาครั้งนี้
 
   ประการที่สาม กระบวนการนโยบายสาธารณะเป็นวงจรของการพัฒนา ขับเคลื่อนและเรียนรู้ยกระดับในการแก้ปัญหาส่วนรวมหรือประเด็นปัญหาสาธารณะอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้จะได้เห็นกระบวนการทำงานและผลที่เป็นรูปธรรม ครบทั้ง ขาขึ้น ขาเคลื่อน และขาประเมิน
 
   ในยุคสมัยที่ยังเป็น สปรส. งานสมัชชาสุขภาพในช่วงนั้นเรียกขานกันว่าตลาดนัดสุขภาพ เป็นลักษณะของงานขับเคลื่อนและผลักดัน (ร่าง) พรบ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... อย่างชัดเจน บรรยากาศจึงมีความคึกคักหนักแน่น สนุกสนาน และมีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก
 
   แต่เมื่อมี สช. เป็นองค์กรขึ้นมาแล้ว งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของเราเริ่มเข้าสู่ความเป็นทางการมากขึ้นและมุ่งผลิตข้อเสนอเชิงนโยบายไว้มากมาย แต่ต่อมาเราค่อยๆ เรียนรู้ว่า งาน ขาขึ้น อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะมติสมัชชาสุขภาพ 8 ครั้ง รวม 69 เรื่อง ต่างพบปัญหาอุปสรรค วงจรไม่หมุนไปตามขั้นตอน การขับเคลื่อนมติมีข้อจำกัด จึงเพิ่มงาน ขาเคลื่อน โดยตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ ขึ้นมาโดยมีรัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธาน
 
   ได้ผลครับ งานขับเคลื่อนมติได้รับการพัฒนารูปแบบไปอย่างมากมาย ทั้งการติดตาม ผลักดัน เจรจาต่อรอง รวมทั้งการใช้เครื่องมืออื่นๆ เข้ามาเสริม การวิจัยประเมินผลและการบริหารจัดการมติเป็นกลุ่มๆ อย่างเหมาะสม จึงทำให้เรามี ขาประเมิน เข้ามาเสริมอีกอัน จนครบองค์ประกอบตามวงจร
 
   ประการที่สี่ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 จัดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาล จาก ร.9 สู่ ร.10 คณะกรรมการจัดงานฯ (คจ.สช.) จึงได้อัญเชิญ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นธงนำ สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพและสังคมสุขภาวะ โดยกำหนดให้เป็นธีมของงาน
 
   ด้านหนึ่ง เป็นการประกาศอย่างหนักแน่นในการเดินตามรอยเท้าพ่อ สร้างความรู้รักสามัคคี ใช้เหตุผล ความเอื้ออาทรและสันติวิธีในการจัดการกับปัญหาของบ้านเมือง
 
   อีกด้านหนึ่ง เป็นการตอกย้ำความยึดมั่นในปรัชญาทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง มีสติยั้งคิด ใช้ปัญญา พัฒนาประเทศ สู่ความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน.
 

รูปภาพ