เมื่อเอกชนร่วมสานฝัน มติสมัชชาสุขภาพฯ ‘การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   

กว่าจะมีบ้านสักหลังนั้นยากเพียงใด?

 
   เชื่อว่าคำถามนี้ เป็นคำถามคลาสสิกที่คนส่วนใหญ่รู้ซึ้งเป็นอย่างดี และตลอดเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนเรื่องที่อยู่อาศัยแทบจะไม่อยู่ในสมการการพัฒนาของประเทศเลย อีกทั้งไม่อยู่ในความสนใจของประชาชนด้วย เพราะต่างก็คิดว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องดิ้นรนขวนขวายกันเอาเอง
 
   รศ.ดร.กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขานุการคณะทำงานยกร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ เรื่อง การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ระบุว่า ภาคีที่ได้ร่วมกันพัฒนามตินี้มองเห็นร่วมกันว่า ที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่ขึ้นกับกำลังซื้อของบุคคล แต่ยังมีมิติทางสังคมคือ เป็น 1 ในปัจจัย 4 พื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ทุกครอบครัว ในมิติทางเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเมือง พื้นที่เมืองกว่า 70% เป็นที่อยู่อาศัย ดังนั้น สังคมจะดีมีสุขภาวะได้ ต้องมีทั้งบ้าน ทั้งชุมชนและเมืองสุขภาวะที่ดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
   “ทุกครอบครัวลงทุนทำงานเก็บเงินทั้งชีวิต เพื่อมีที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงในการถือครอง ถูกสุขลักษณะ มีเพื่อนบ้านดี มีชุมชนโดยรอบที่ดี ไม่ไกลจากแหล่งงาน นี่เป็นลักษณะตามปฏิญญาสากล Habitat 3 ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเมืองในทศวรรษนี้ว่า ที่อยู่อาศัยคือศูนย์กลางของการพัฒนาเมือง การมีที่อยู่อาศัยที่พอเพียง และการพัฒนาเมืองต้องเป็นการพัฒนาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ที่ผ่านมา เมืองของเราไม่ค่อยถูกมองแบบนั้น มองแต่เป็นเมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม ทั้งที่สิ่งแท้จริงที่สุดคือ เมืองเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเรา”
 
   อาจารย์กุณฑลทิพยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องนี้ว่า พี่น้องเครือข่ายชุมชนนครสวรรค์ ในชุมชนบ้านมั่นคงต้องการให้ที่อยู่อาศัยเป็นที่อยู่อาศัยที่มีสุขภาวะ จากนั้นจึงมีการระดมสมองกับภาควิชาการและส่วนอื่นๆ พัฒนาจนที่ประชุมเห็นควรขยายผลว่า การจะทำให้พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างมีสุขภาวะได้ ต้องมองภาพรวมตั้งแต่ตัวบ้าน ชุมชน พื้นที่รอบชุมชนและเมือง แล้วออกแบบร่วมกัน จึงได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานยกร่างฯ ที่มาจากหลายภาคส่วน โดยมีภาคเอกชน คือ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายด้วย การร่วมเรียนรู้และระดมสมองกันใช้เวลานานประมาณ 1 ปีเพื่อยกร่างมติ ‘การจัดการบริหารที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ’ จนออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2559 โดยคำว่า “สุขภาวะ” นั้นมีความหมายทั้งสุขภาพทางกาย สุขภาพทางใจ สุขภาพทางปัญญา และสุขภาพทางสังคม ตามนิยามในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
 
   จากการทำงานเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยอย่างพอเพียงสำหรับทุกคนมากว่า 40 ปี รศ.ดร.กุณฑลทิพย เห็นว่า ในอดีตประเทศไทยมีการดำเนินงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้เป็นอย่างดี แต่เรายังไม่เคยมีการวางแผนล่วงหน้าว่า เมื่อเราพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจ ย่อมต้องมีแรงงานเพื่อเข้ามาทำงานเหล่านั้น และร้อยละ 60 ของคนทำงาน จะเป็นผู้มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะสามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยในราคาตลาดปกติได้ เมื่อไม่มีการวางแผนรองรับว่า จะให้พวกเขาเหล่านั้นมีที่อยู่อาศัยที่พอเพียงได้อย่างไร ทำให้ต้องตามแก้ปัญหากันไม่มีที่สิ้นสุด
 
   “มติที่พวกเราช่วยกันยกร่างและขับเคลื่อนขึ้นนี้ จึงกว้างกว่าการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย แต่เป็นการปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยทั้งระบบ” อาจารย์กุณฑลทิพย กล่าว
 
   “เมื่อเมือง คือ ที่อยู่อาศัย” การวางผังเมืองหรือการวางแผนพัฒนาเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนด้านที่อยู่อาศัยเอาไว้ในแผนพัฒนาเมืองด้วย ยิ่งกว่านั้น หากจะปฏิบัติตามปฏิญญาสากล HABITAT 3 ที่เราได้ล่วมลงนามแล้ว ก็ยิ่งต้องวางแผนที่อยู่อาศัยโดยให้น้ำหนักเป็น ‘หัวใจ’ ของแผนพัฒนาเมือง
 
   “การวางแผนพัฒนาเมืองหรือผังเมืองนั้น สหรัฐอเมริกาเรียกว่า comprehensive plan หรือแผนบูรณาการ เพราะบูรณาการหลายเรื่องเข้าด้วยกันทั้งด้านการใช้ที่ดิน การพัฒนาคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งอีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากและการผังเมืองของเราขาดไปคือ แผนด้านที่อยู่อาศัย(Housing Plans) แผนพัฒนาเมืองนี้ควรเป็นบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่รู้สถานการณ์ของเมืองของตัวเองดี รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร รู้ว่าบทบาทเมืองจะเป็นอย่างไร สมมติว่าเมืองวางแผนที่จะก้าวไปเป็นเมืองอุตสาหกรรมใน 3-5 ปี ก็ต้องมีการคาดการณ์ว่าประชากรที่จะมาทำงานเรื่องนี้จะประกอบด้วยใครบ้าง คนเหล่านี้จะมีรายได้ประมาณเท่าไร มีความต้องการที่อยู่อาศัยเท่าไร อย่างไร มีความสามารถในการจ่ายเท่าไร เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเขาก็จะต้องหาทางทำให้มี supply ที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นและสอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายของคนทุกระดับ”
 
   อาจารย์กุณฑลทิพย ยังยกตัวอย่างสิงคโปร์ซึ่งใช้การพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นการสร้างชาติ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเดียวกันกับที่ประเทศไทยตั้งการเคหะแห่งชาติขึ้น แต่ด้วยวิธีคิดนโยบายแบบ ที่อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชาติ มีการวางแผนระยะยาวอย่างมีลำดับขั้นตอนและมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนทุกครัวเรือนของสิงคโปร์สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนประเทศไทยแม้ภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านที่อยู่อาศัยตามสมควร แต่ก็เป็นนโยบายระยะสั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล และหวังผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือผลทางการเมืองมากกว่าการวางรากฐานระยะยาว
 
   “เป้าหมายของสิงคโปร์ชัดตั้งแต่แรกว่าเพื่อให้คนของเขาได้มีที่อยู่อาศัยที่ ‘อยู่เย็นเป็นสุข’ แต่ของไทย บ้านเราเล็กลงทุกทีๆ เพราะเอกชนต้องแข่งกันลดต้นทุน จากเดิมที่การเคหะฯ เคยกำหนดว่า 33 ตารางเมตรเป็นพื้นที่เล็กสุด ตอนนี้เหลือ 20 ตารางเมตร ขณะที่สิงคโปร์เคยทำ 33 ตารางเมตรตอนนี้ขยายให้ใหญ่ขึ้น โดยใช้มาตรการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น ให้คนสิงคโปร์รุ่นใหม่รับพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปอยู่ด้วย เรียกว่าเอานโยบายที่อยู่อาศัยผนวกกับนโยบายพัฒนาสังคมได้” อาจารย์กุณฑลทิพยกล่าว
 
   จะเห็นได้ว่า หากจะดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองเพื่อสุขภาวะให้เป็นไปตามที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก นอกจะต้องมีแนวคิด นโยบาย การวางแผนการดำเนินงานแล้ว ยังจำเป็นต้องเกิดความร่วมมือร่วมใจ ร่วมเรียนรู้และพัฒนาจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ หรือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องนี้มีภาคเอกชนเข้าร่วมเรียนรู้ถึงความสำคัญในการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองแบบมีส่วนร่วม และมีกฎบัตรพัฒนาเมืองกว่า 15 เมืองที่นำแนวคิด Smart Growth มาใช้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวคำนึงถึงการมีที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายของคนทุกกลุ่มเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญ
 
   ด้าน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ตัวแทนเอกชนที่ร่วมขบวนกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่แรก และดึงให้ภาคเอกชนมาร่วมขับเคลื่อนมติการจัดการและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน เมืองที่มีสุขภาวะ โดยตัวอย่างที่ปรากฏในสื่อมากมายคือ รูปแบบของบริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ หลายแห่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทนี้เป็นการรวมตัว-รวมทุนของเอกชนในจังหวัด แล้วหารือร่วมกับประชาชนและภาครัฐ เพื่อดูว่าเมืองของพวกเขาต้องการอะไร จะเดินไปทางไหน และต้องทำอะไรบ้าง
 
   “การพัฒนาเมือง แต่ละจังหวัดมีจุดเน้นแตกต่างกันไป บางที่เน้นระบบขนส่ง บางที่เน้นเกษตรอินทรีย์ บางที่เน้นการท่องเที่ยว แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนรายได้น้อยก็ยังไปไม่เป็นเหมือนเดิม ยกตัวอย่าง จังหวัดนครสวรรค์ เจอปัญหาชุมชนบุกรุกที่ราชพัสดุซึ่งผังเมืองใส่สีน้ำเงินไว้เพราะเป็นของราชการ พอจะไปขอปรับเป็นบ้านมั่นคง หน่วยราชการ เจ้าของที่โอเค ปรากฏว่าทำไม่ได้เพราะติดปัญหาสีผังเมือง ไม่มีส่วนราชการไหนกล้าขอแก้ไข
 
   สุดท้ายทางนครสวรรค์ก็คิดจะจัดเป็นบริษัทพัฒนาเมือง ยังไม่ได้ทำ แต่ก็เริ่มมีการพูดคุย โดยตัวแทนดีเวลลอปเปอร์มานั่งคุยกับ 4 - 5 ชุมชน เพื่อหาทางแก้ปัญหา พวกเขาสามารถคุยกันได้บนฐานที่มองเห็นร่วมว่า กลุ่มคนจนเมืองเป็นกำลังสำคัญของเมือง คนใช้แรงงานระดับล่าง คนรายได้น้อยในเมืองถ้าอยู่ลำบาก เมืองก็ไปต่อไม่ได้ ในช่วงหลัง เราจึงเริ่มผลักดันให้เอกชนที่ทำด้านการพัฒนาเมืองนึกถึง housing for all หรือเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อยด้วย
 
   บริษัท พัฒนาเมือง จำกัด เป็นความร่วมมือของเอกชนในจังหวัดนั้นๆ แต่ช่วงหลังเมื่อเริ่มทำกฎบัตรพัฒนาเมือง ก็ทำให้รวมภาคส่วนอื่นเข้ามาได้ ทำให้แข็งแรงกว่าเดิม เพื่อสร้างข้อตกลงในระดับเมืองว่า ในอีก 5 ปี 10 ปี เมืองของฉันจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ภาครัฐมาสั่ง แต่ประชาชนมานั่งคุยกันแล้วบอกว่าจะเอาอย่างนี้” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าว
 
   จากการบอกเล่าของนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย นครสวรรค์เริ่มเคลื่อนตัวไปในทิศทางของการพัฒนาเมืองเก่าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีเป้าหมายให้คนแวะพัก ไม่ใช่เพียงแค่ผ่านทาง มีสมาคมผังเมืองช่วยเข้าไปวางผังย่านให้เป็น smart district มีแผนจะปรับบางพื้นที่เป็นศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นจิ๊กซอว์ที่ค่อยๆ ต่อขึ้นโดยคนในพื้นที่ เมื่อหน่วยงานใดทำงบประมาณ ทำโครงการ หรือจะคิดพัฒนาเมืองนครสวรรค์ ก็จะมีกรอบแนวทางที่มาจากประชาชนไว้ให้เป็นที่เรียบร้อย
 
   นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดที่กำลังขยับเขยื้อนพัฒนาพื้นที่ของตนเอง โดยมีเอกชนและภาคประชาชนเป็นผู้มีบทบาทนำ เช่น กรณีของจังหวัดภูเก็ต เอกชนก็มุ่งพัฒนาเมืองให้เป็น smart city หรือ data city โดยมีสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการ ซึ่งมี big data ของเมืองเป็นหัวใจสำคัญ และเรื่องที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อยก็จะอยู่ในฐานข้อมูลนี้ด้วย
 
   “ฐานข้อมูลนี้จะต่างจากข้อมูลของสำนักงานสถิติซึ่งเก็บย้อนหลัง การทำ big data เมืองเป็นการเอาข้อมูลปัจจุบันไปวางแผนอนาคต เช่น มีเซ็นเซอร์ มีการตรวจวัดนักท่องเที่ยวเรียลไทม์ กรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาแล้วหายไปก็สืบค้นได้จากการ tracking ไวไฟฟรีของนักท่องเที่ยวได้ มีโรคระบาดมาก็แทรคกิ้งได้ การจราจรก็เตรียมอัพเกรดเป็น CCTV ซึ่งจะรู้ได้เลยว่ารถที่เข้ามามาจากจังหวัดไหนบ้าง เขาเป็นเกาะและดีไซน์ว่าอยากได้ data แบบนี้เพื่อตอบโจทย์เรื่องอาชญกรรม
 
   น่าจะรวมไปถึงการทำสำมะโนประชากรและ housing ได้ด้วย มีการคุยกันว่าจะใช้เอไอนับหลังคาบ้านในภูเก็ตเพื่อดูความแออัด ดูพื้นที่สลัมในเกาะ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องนับหลังคาแล้ว เอาโดรนบินก็รู้ว่ามีคนรายได้น้อยกี่หลังคาเรือน รวมถึงยังสามารถติดตามราคาที่ดิน โปรเจคชั่นว่าเมืองจะขยายอย่างไร ผังเมืองควรจะวางอย่างไรได้ด้วย” นายพรนริศเล่า
 
   แม้แนวคิด ‘ที่อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเมือง’ อาจยังไม่เติบโตเต็มที่ในทุกพื้นที่ แต่อย่างน้อยการมีส่วนร่วมในการวางแผนเช่นนี้ ก็น่าจะทำให้จำนวนผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังมีน้อยลงเรื่อยๆ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม)