ตอนที่ 2 ‘วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้ว่าประเทศไทยจะรับ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ที่ยืนยันหลักการว่าการเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐไทยจะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดจาก “เพศภาวะ”
 
   ย้อนกลับไปราว 17-18 ปีก่อน คือในปี 2544 ทุกกระทรวงในประเทศไทย (ยกเว้นกระทรวงกลาโหม) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point : GFP) ขึ้น ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจให้ข้าราชการ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในประเด็นเพศภาวะ
 
   แน่นอนว่า โดยหลักการย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อลงลึกในทางปฏิบัติจะพบว่าทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่บุคลากรภายในหน่วยงานเป็นหลัก ขณะที่การทำงานนอกหน่วยงาน หรือการทำงานกับประชาชนทั่วไปยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก
 
   ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ได้บัญญัติถึงสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงกำหนดให้การจัดทำงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ และการเปิดโอกาสให้ผู้แทนสตรี/องค์กรสตรีร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสตรี
 
   แต่ข้อเท็จจริงไม่เป็นไปเช่นนั้น การดำเนินการยังไม่สะท้อนภาพและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเท่าที่ควร จนอาจสรุปเบื้องต้นได้ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีเพียง “กรอบ-หลักการ” ส่วนภาคปฏิบัติกลับยังไม่ปรากฏรูปธรรมสักเท่าใด
 
   ศ.ศิริพร จิระวัฒน์กุล ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ซึ่งเป็นหนึ่งในระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 บอกว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันประเด็น “วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ให้เป็นนโยบายสาธารณะ
 
   ศ.ศิริพร อธิบายว่า เพศที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดจะเรียกว่า “เพศกำเนิด” แต่พอคนๆ นั้นเข้ามาอยู่ในครอบครัว เจริญเติบโตผ่านการเลี้ยงดูและการขัดเกลาทางสังคม ที่สุดแล้วจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายหรือเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการกำหนดทั้งสิ้น ดังนั้นสามารถเรียกเพศเหล่านี้ว่า “เพศกำหนด” หรือ “เพศภาวะ” (Gender)
 
   ทว่า ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ผู้หญิง-ผู้ชาย แต่มีเพศหลากหลายไม่ต่ำกว่า 18 เพศ โดยเพศเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดให้คนต้องมีบทบาทหรือมีความสัมพันธ์กับผู้คนในลักษณะต่างๆ ซึ่งผลกระทบด้านลบคือเกิดความกดดันที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในเพศนั้นๆ ที่สุดแล้วจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และนำไปสู่ปัญหาของครอบครัวในท้ายที่สุด
 
   อย่างไรก็ตาม เมื่อความกดดันคือทางลบของ “เพศภาวะ” ก็จำเป็นต้องมีทางบวกซึ่งก็คือการทำให้แต่ละคนสามารถใช้เพศภาวะของตัวเอง เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีในระดับบุคคลที่จะนำไปสู่สุขภาวะที่ดีในครอบครัว หรือเรียกว่า “วิถีเพศภาวะ” หรือ gender approach
 
   “ถามว่าเรื่องนี้สำคัญขนาดไหน ตอบว่าสำคัญระดับโลก เพราะ Gender ถูกสอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 4 5 และเป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ หรือ Social Determinants of Health อีกด้วย”
 
   ศ.ศิริพร อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างเพศภาวะกับครอบครัวต่อไปว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยาย หากแต่มีลักษณะครอบครัวต่างๆ มากกว่า 7-8 ประเภท และภายในครอบครัวก็มีสมาชิกที่มีความแตกต่างกันตามช่วงอายุ หรือมีหลาย generation ดังนั้นเมื่อพูดถึงเรื่องสุขภาวะครอบครัวจึงไม่ใช่การพูดแบบเส้นตรงอีกต่อไป คำถามคือแล้วเรามีองค์ความรู้ในเรื่องเหล่านี้เพียงพอหรือไม่
 
   “เรื่องเหล่านี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง-ปรับปรุงบทบาทในครอบครัวไปมากมาย นั่นหมายความว่า Gender หรือเพศภาวะจะไม่คงที่ ซึ่งสิ่งนี้ย่อมมีผลต่อสุขภาวะครอบครัว และด้วยสังคมไทยเป็นสังคมที่เคยชินกับอำนาจ ลักษณะเพศภาวะของเราจึงยังอิงแอบอยู่กับอำนาจ เกิดเป็นความไม่เท่าเทียมและเป็นธรรมของแต่ละเพศ ซึ่งก็มีผลต่อสุขภาพในระดับบุคคล”
 
   ศ.ศิริพร กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวอย่างชัดเจน และถ้าดูสถิติของสมาชิกในครอบครัว ก็จะเห็นปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาสุขภาพกายที่มีผลมาจากความไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมทางเพศภาวะที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับภาพที่เรามักพูดกันว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมและให้ความเป็นธรรมทางเพศมาโดยตลอด
 
   “การทำงานตั้งแต่อดีต เราจะพบว่าภาครัฐมีการตั้งศูนย์ GFP และดำเนินโครงการต่างๆ แต่การทำงานไม่ต่อเนื่อง จนทำให้คนยังเข้าใจว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียมและเสมอภาคแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนกับภาคประชาชนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นองค์กร-มูลนิธิต่างๆ ที่พยายามช่วยแก้ปัญหา แต่ก็เน้นไปที่สถานภาพของเด็กและผู้หญิงเป็นพิเศษ และด้วยข้อจำกัดทำให้สามารถแก้ไขได้ที่ปลายเหตุเท่านั้น” ศ.ศิริพร กล่าว
 
   ทั้งหมดคือความจำเป็นที่ต้องร่วมกันผลักดันเรื่อง “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ให้เป็นนโยบายสาธารณะ และเกิดรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา