ตอนที่ 1 ทุกเพศมีความแตกต่าง : ถ้าเข้าใจกันก็มีสุข | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สำหรับบรรดาเหล่าพ่อบ้าน-คุณสามีทั้งหลาย ลองได้มีโอกาสได้รวมรุ่นตั้งกลุ่มสังสรรค์กับพวกพ้องแบบปล่อยแก่ เดาได้เลยว่าบทสนทนาที่นำมาซึ่งความคึกคะนองหนีไม่พ้นเรื่องการ “นินทาภรรยา”
 
   เรื่องที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย หรือล้อเลียนกันอยู่ในวงบ่อยครั้ง คือเรื่องความเจ้าอารมณ์ของผู้หญิง ความแปรปรวน หงุดหงิดง่าย เราคุ้นชินและออกไปทางขำขันกับประโยคที่ว่า “ไม่รู้เมียหรือแม่กันแน่” โดยที่ไม่ได้คิดอะไร
 
   แต่ถ้าลองมองเรื่องนี้กันอย่างซีเรียส เชื่อเหลือเกินว่า น้อยคนจะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะอารมณ์เหล่านั้นมักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่นั่นไม่ใช่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่แปลกประหลาด หรือเป็นอะไรตามที่ผู้ชายมักกล่าวโทษแก่เธอ
 
   เพราะแท้ที่จริงแล้วเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับกายภาพและฮอร์โมน จากสถิติทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าผู้หญิงจะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า เกรี้ยวกราด อารมณ์สองขั้ว ได้มากกว่าผู้ชาย แต่ทว่ากลับไม่ค่อยมีใครพยายาม “เข้าใจ”
 
   ขณะเดียวกัน ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องแบกรับภาระทางสังคมไว้ค่อนข้างมาก ต้องเป็นลูกสาวที่ดีอยู่ในกรอบ ต้องเป็นภรรยา-แม่ศรีเรือน รับผิดชอบดูแลบ้าน ดูแลลูก ไปจนถึงดูแลสามี และในสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้าน เผชิญกับความเครียด-แรงบีบรัดอีกมหาศาล
 
   ความเหน็ดเหนื่อยและความกดดันดังกล่าว ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากทั่วโลกล้มป่วยทางจิตใจ ค่านิยม-กรอบความคิดเดิมๆ ที่ส่งต่อกันมา ก็นับเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สถานการณ์เรื่อง “เพศ” ดูจะห่างไกลจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด “ชายเป็นใหญ่” ที่ตีกรอบให้ผู้หญิงเป็นได้แต่ช้างเท้าหลัง และทิ่มแทงเพศชายให้ต้องเข้มแข็ง-แข็งแกร่ง-เป็นผู้นำเสมอ ทั้งๆ ที่ผู้ชายหลายคนอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น และผู้ชายก็มีสิทธิที่จะเปราะบางได้เหมือนกัน

 
   หรือเรื่องบางเรื่องที่หล่อหลอมกันมาตั้งแต่เด็กโดยไม่มีคำอธิบาย ทำไมผู้ชายต้องชอบสีฟ้า และทำไมสีชมพูต้องเป็นของเด็กผู้หญิงเท่านั้น ทำไมผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นได้แค่ “ตัวตลก” ในซิทคอมหรือละครหลังข่าว ทำไมสามีที่ขยันทำงานบ้านกลับต้องถูกครหาเชิงเหยียดหยามว่า “กลัวเมีย” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยาเป็นสิ่งที่สามีควรทำ มิใช่หรือ?
 
   เรายังมีความคาดเคลื่อนเรื่องเกี่ยวกับเพศอีกเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง “ความรัก” ที่เกิดขึ้นในชาย-ชาย หญิง-หญิง
 
   คำถามคือ ใช่หรือไม่ว่า ความรักเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และละเอียดอ่อนเกินกว่าจะใช้ “เพศกำเนิด” มาแบ่งแยก และ “เครื่องเพศ-เพศสรีระ” ก็ไม่ได้บ่งชี้หรือกำหนดจิตใจได้แต่อย่างใด
 
   ดังนั้นความหลากหลายทางเพศจึงไม่ใช่สิ่งผิดแผกหรือแตกต่าง ไม่ใช่ปมด้อยหรือความลับให้ต้องอำพรางหลบซ่อน
 
   แต่ทุกวันนี้ ก็ยังมีคนมองกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง หรือกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยสายตาที่เป็นอคติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเสี้ยวเล็กๆ ในภาพใหญ่ ที่สะท้อนถึงความไม่เข้าใจ-ค่านิยม-ทัศนคติ ที่ไม่ถูกต้อง
 
   เมื่อกระดุมเม็ดแรกผิด กระดุมเม็ดต่อๆ ไปก็ย่อมผิดตาม ปัญหาจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย ลองจินตนาการดูว่า จะเป็นอย่างไรถ้าในครอบครัวหนึ่งๆ ไม่มีความเข้าใจเรื่องเพศเลยแม้แต่น้อย สามีไม่มีความเข้าใจในตัวภรรยา ภรรยาตั้งความคาดหวังเกินพอดีกับสามี หรือพ่อ-แม่ที่ไม่เข้าใจลูกซึ่งเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วความสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

 
   จากการศึกษาปัญหาสุขภาวะครอบครัวอันเนื่องมาจากเพศภาวะ พบว่าปัญหาที่สำคัญได้แก่ ความรุนแรงในครอบครัว โรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การใช้สารเสพติด การดื่มสุรา การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เอชไอวี เอดส์ การรุนแรงทางเพศ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
 
   เครื่องมือหรือทางออกสำหรับแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ วิถีเพศภาวะ หรือ gender approach ซึ่งหมายถึง การดำเนินงานต่างๆ ที่ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมระหว่างบุคคลเพศต่างๆ ในสังคม สร้างค่านิยม บรรทัดฐาน ความคาดหวังของครอบครัว สังคม ให้มีคุณค่าแก่บุคคลทุกเพศภาวะอย่างเท่าเทียม และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี
 
   นำมาสู่ระเบียบวาระ “วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 เพื่อจัดทำเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา ใช้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา