‘สุขภาวะสังคมสูงวัย’ ต้องทำเป็นอันดับหนึ่ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   แม้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จะประกาศใช้มาแล้วเกือบ 12 ปีเต็ม และที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน
เข้ามาร่วมจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมมาโดยตลอด ยกตัวอย่าง การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 11 ครั้ง ซึ่งเกิดเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมากถึง 81 มติ เป็นต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ “สุขภาวะทางสังคม” อีกเป็นจำนวนมาก

 
   ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากปัญหาในภาพใหญ่ ด้วยข้อจำกัดทั้งกำลังคน ทรัพยากร ฯลฯ จึงเป็นเรื่องยากที่จะขับเคลื่อนให้ทุกๆ เรื่องให้ไปถึงเป้าหมายโดยพร้อมเพรียง จึงจำเป็นต้องมีการ “จัดลำดับความสำคัญ” โดยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ได้มี การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดลำดับความสำคัญของประเด็นทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เพื่อระดมทุกภาคส่วนมาร่วมกันวิเคราะห์ จัดลำดับ และให้ข้อเสนอต่อแนวทางการพัฒนาประเด็น
 
   “การจัดลำดับจะทำให้เราได้ภาพกว้างๆ ของเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อหยิบยกไปเดินหน้าทำงานต่อ บางประเด็นอาจนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพ บางประเด็นอาจจะเกิดเป็นสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรืออื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจทำงานแบบตั้งรับ รอให้เครือข่ายเสนอประเด็นเข้ามา แต่นี่จะเป็นการวิเคราะห์ประเด็นเชิงรุกล่วงหน้า หากพบว่าประเด็นไหนมีความสำคัญ แต่ยังไม่มีใครเสนอ หรือยังมี gap ของประเด็นอยู่ สช. ก็อาจเป็นผู้ผลักดันประเด็นเหล่านี้เข้าไปสู่กระบวนการนโยบายสาธารณะฯ เองได้” นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ กรรมการบริหาร รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมฯ
 
   ประเด็นสำคัญที่ผ่านการวิเคระห์และหยิบยกมาหารือในการประชุมฯ ครั้งนี้ มี 16 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความเหลื่อมล้ำกับกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง 2.เขตเศรษฐกิจพิเศษกับผลกระทบด้านสุขภาพ 3.การกระจายอำนาจเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ 4.ความรอบรู้ด้านสุขภาพ 5.สุขภาวะสังคมสูงวัย 6.การบริหารจัดการและป้องกันภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อสุขภาพ 7.สิ่งแวดล้อม (การจัดการขยะ) 8.สุขภาพจิตของคนกลุ่มต่างๆ
 
   9.แรงงานต่างด้าว 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 11.การเสริมสร้างพลังทางสังคมและการพึ่งพาจัดการตนเอง 12.การวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ (Big Data) 13.การเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 14.การเกษตรกับผลกระทบด้านสุขภาพ 15.ทรัพยากรธรรมชาติ (การจัดการน้ำ) 16.สุขภาพปัญญา
 
   โดยผู้เข้าร่วมฯ ได้ร่วมกันกำหนด “หลักเกณฑ์” ในการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นรวมทั้งสิ้น 7 ประการ คือ 1.ส่งผลกระทบบวกและลบ ความรุนแรง จำเป็น และเร่งด่วนของปัญหา 2.มีสถานการณ์สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผน นโยบาย 3.ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่ม ในระดับต่างๆ 4.สามารถขับเคลื่อนได้จริง 5.เป็นความท้าทายใหม่ๆ เป็นเรื่องของเทคโนโลยี แนวโน้มและทิศทางของโลก 6.สามารถนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรม ความเสมอภาค ประโยชน์ ภาระ และ 7.มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ เชื่อมโยง คาบเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ
 
   ผลของการแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนพูดคุยที่ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ด้วยการนำความเชื่อมโยงเรื่องระหว่าง “ประเด็น” เข้าสู่ “หลักเกณฑ์” ทำให้ผลจากการนำเสนอและลงคะแนนเสียงนั้น ที่ประชุมฯ เห็นร่วมกันว่าประเด็นที่เข้าเกณฑ์ประเมินตามความสำคัญที่สุดเป็นอันดับหนึ่งก็คือ “สุขภาวะสังคมสูงวัย”
 
   ส่วนประเด็นที่พบว่าเข้าเกณฑ์ความสำคัญรองลงมา ประกอบด้วย ความรอบรู้ด้านสุขภาพ การกระจายอำนาจเพื่อบริหารจัดการสุขภาพ การเสริมสร้างพลังทางสังคมและการพึ่งพาจัดการตนเอง และ การเกษตรกับผลกระทบด้านสุขภาพ ตามลำดับ
 
   อาจารย์สัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำกระบวนการ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีความหลากหลายภายใต้ข้อจำกัดของการแก้ไข การจะเลือกว่าทำประเด็นใดก่อนหรือหลังนั้นแต่ละคนอาจมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน แต่จุดเริ่มต้นโดยการมีหลักเกณฑ์เป็นตัวดำเนินเรื่อง จะทำให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกันและเข้าใจได้ว่าประเด็นเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างไร
 
   “ไม่ได้หมายความว่าประเด็นที่ถูดจัดลำดับว่ามีความสำคัญมากที่สุด หรือจะต้องให้ทุกคนมาร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนทั้งหมด แต่อย่างน้อยมันเป็นแรงสนับสนุนในการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาดำเนินการก่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็ยังคงถูกขับเคลื่อนตามหน้างานของแต่ละคน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วประเด็นอื่นๆ อาจถูกพัฒนาเข้าสู่นโยบายสาธารณะก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส” อาจารย์สัญชัย สรุป
 
   ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อ สช. ในฐานะตัวกลางสนับสนุนการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเทคนิคและวิธีการในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเด็นทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและเป็นประเด็นระดับชาติ แต่จะคัดเลือกหรือจัดลำดับประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์เพื่อเดินหน้าทำงานได้อย่างไร
 
   “อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องเน้นมากที่สุดตามเกณฑ์การประเมินคือข้อ 4 ที่จะต้องพึ่งพาทุกฝ่ายในการทำให้ประเด็นนั้นสามารถขับเคลื่อนได้จริง ซึ่งผลจากการระดมความคิดทั้งหลายจะถูกนำไปดำเนินการต่อ เพื่อหาฉันทมติในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป” นพ.ประทีป กล่าวทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา