Young ทำได้ สานพลังเยาวชนขับเคลื่อนอนาคต | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   “การพบกันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเพราะความตั้งใจของทุกคน”
 
   เยาวชน 41 ชีวิต จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งผ่านการคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “โครงการ Young ทำได้” ต่างพกพาความคาดหวังและความตั้งใจมาพร้อมๆ กับสองเท้าที่ก้าวออกจากบ้าน โดยมี สามพราน ริเวอร์ไซด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นจุดหมาย
 
   การเดินทางในครั้งนี้ นอกจากประสบการณ์นอกห้องเรียนแล้ว ทุกคนยังจะได้เรียนรู้ “กระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ผ่านการใช้เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 อันประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพ
 
   แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกคนจะได้เพื่อนใหม่ ได้เครือข่ายกัลยาณมิตรใหม่ ที่จะนำไปสู่การสานพลังขับเคลื่อนสังคมในอนาคต เพราะ “โครงการ Young ทำได้” เชื่อมั่นว่าพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นพลังอันบริสุทธิ์ และมีศักยภาพมากในการก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ ไปสู่การพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์
 
   “กระบวนการในวันนี้จะสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อเสนอแนวทาง-ทิศทางของสังคมอย่างสร้างสรรค์ เพราะในอนาคตคนรุ่นใหม่จะต้องออกมายืนข้างหน้าและเป็นผู้นำสังคม ซึ่งทุกๆ การพูดคุยพบปะจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ การอยู่คนเดียวจะไม่มีพลังเท่ากับการอยู่ร่วมกัน แม้ว่าการเดินคนเดียวจะไปได้ไว แต่การเดินด้วยกันจะไปได้ไกลกว่า” สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อํานวยการสํานักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวเปิดกิจกรรม
 
   สอดคล้องกับ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการพัฒนาการสร้างเสริมศักยภาพและจัดกลุ่มเครือข่าย ที่กล่าวกับน้องๆ เยาวชนตอนหนึ่งว่า แม้ว่าผู้เข้าร่วม “โครงการ Young ทำได้” จะเป็นเพียง 41 คน ใน 65 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ทุกๆ การเปลี่ยนแปลงมักเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ เสมอ ซึ่งการเปลี่ยนเพียงแค่ 20% จะสามารถทำให้ระบบใหญ่ทั้งระบบเปลี่ยนแปลงได้
 
   “หัวใจของการ workshop ในครั้งนี้คือการเรียนรู้จากเพื่อนๆ” นพ.ประสิทธิ์ชัย ระบุ
 
   ช่วงเช้าของวันที่ 7 กันยายน 2561 จึงเริ่มต้นด้วยกิจกรรม “รู้จักฉัน รู้จักเธอ” ซึ่งช่วยให้เยาวชนทั้ง 41 ชีวิต ได้ใกล้ชิด-เข้าไปนั่งอยู่ในใจของกันและกัน โดยกิจกรรมนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมทบทวนตัวเอง นิยามตัวเอง รวมทั้งพิจารณาถึงคุณค่าหลักที่ยึดถือ ไปพร้อมๆ กับการเชื่อมร้อยเป้าหมายของตัวเองเข้ากับเพื่อนๆ
 
   ถัดจากนั้นเมื่อทุกคนพร้อมแล้ว ก็เข้าสู่สถานีเรียนรู้ที่ 1 คือ “การจัดการคลองเจดีย์บูชา” โดยกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งคลองแห่งนี้จะเชื่อมต่อกับแม่น้ำท่าจีน ถูกขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมสำหรับมนัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และค้าขาย ปัจจุบันมีอายุกว่า 160 ปี
 
   อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมเปลี่ยน ความเจริญเข้าสู่พื้นที่ คลองเจดีย์บูชาที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักกลับถูกละเลยจนในที่สุดก็เสื่อมโทรม ไร้ชีวิตชีวา ปัญหาที่พบคือการคุกคามจากผักตบชวา ชาวบ้านใช้สารเคมีเพื่อกำจัด
 
   ผศ.เด่นศิริ ทองนพคุณ ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีนนครปฐม เล่าว่า ที่ผ่านชาวบ้านได้ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการฟื้นฟูคลองเจดีย์บูชา โดยโจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนคือจะทำอย่างไรให้คนริมคลองหันกลับมาดูแลรักษาคลอง ทำอย่างไรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเอาจริงเอาจัง ทำอย่างไรให้ชาวนครปฐม 7 แสนคนให้ความสำคัญ และทำอย่างให้ที่จะผลักดันให้แม่น้ำท่าจีนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคืนชีวิตกลับมาให้คลองอีกครั้ง
 
   การแก้ไขปัญหาของ ผศ.เด่นศิริ คือการนำเครื่องมือสมัชชาสุขภาพเข้ามาใช้ ด้วยการตั้งต้นจากปัญหา ชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาล้อมวงพูดคุย ดึงภาคส่วนวิชาการเข้ามาช่วยสนับสนุน จากนั้นก็ช่วยกันวางกันว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะขับเคลื่อน นโยบายอะไรที่เราอยากจะให้มี ก็สรุปออกมาเป็นข้อๆ
 
   สำหรับภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วม ประกอบด้วยชาวบ้าน ชุมชน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถานศึกษา นักวิชาการ วัด องค์กรอิสระ ประชาสังคม ซึ่งทั้งหมดจะเอาคลองเจดีย์บูชาเป็นศูนย์กลาง
 
   “กว่าจะได้ข้อสรุปเราประชุมกันหลายครั้งหลายเวที คุยกันจนกว่าจะหาปัญหาและตัวละครที่เกี่ยวข้องเจอ” ผศ.เด่นศิริ อธิบาย
 
   ณัฐวุฒิ อนุชิตอารมณ์ ประธานชุมชนสวนตะไคร้ จ.นครปฐม ตอกย้ำหัวใจของความสำเร็จว่า การฟื้นฟูคลองเจดีย์บูชาคงไม่สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องชักชวนคนในพื้นที่มาร่วมคิดและร่วมทำ ฉะนั้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนทุกคนคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
 
   นอกจากนี้ “โครงการ Young ทำได้” ยังได้รับฟังข้อมูลการดำเนินงานจาก ทวี กุลคำธรกิตติ์ นายกเทศมนตรีตำบลธรรมศาลา ซึ่งช่วยทำให้เห็นภาพการทำงานแบบมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี โดยนายกฯ ทวี ยืนยันว่า การฟื้นฟูคลองเจดีย์บูชาจะนำไปสู่การสร้างเมืองสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ทุกคนในตำบลมีสุขภาวะดี ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนจะเข้ามารับประโยชน์ร่วมกัน
 
   แม้จะมีเวลาพูดคุยกันเพียง 2 ชั่วโมง แต่เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องใดเรื่องหนึ่งจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา