Mind Storming - เปลี่ยน “คนดู” เป็น “ผู้แสดง” รวมพลังคนไทยเอาชนะภัยท้องถนน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   รายงานความปลอดภัยทางถนน 2018 ขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดในโลก แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงจากปี 2017 คือจาก 24,237 คน เป็น 22,491 คน แต่นั่นก็เท่ากับว่า เฉลี่ยแล้วตลอดปีนี้มีคนเสียชีวิตบนถนนวันละ 61 คน นับเป็นทรัพยากรบุคคลจำนวนมหาศาลและสร้างผลกระทบต่อเนื่องอีกนับไม่ถ้วน
 
   แม้หลายหน่วยงานในประเทศไทยจะได้พยายามแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง หากความพยายามแก้ไขปัญหาฯ ที่ผ่านมา อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นสุขภาพในหลากหลายเรื่องมาอย่างยาวนาน และได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2552 ว่าด้วย “การแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน” มาอย่างต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายทุ่มสรรพกำลังในการร่วมแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในปี 2562 ผ่านโครงการ รวมพลังคนไทยเอาชนะภัยท้องถนน สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนคนทั่วไปในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “Mind storming”
 
   “สช. ไม่ใช่องค์กรรณรงค์ ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ หน้าที่ของเราคือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ หากเราแสดงบทบาทแล้วหนุนเสริมให้องค์กรที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้วโดดเด่นขึ้น มีความสำเร็จสูงขึ้น นั่นก็คือความสำเร็จของเรา เพราะท้ายที่สุดมันช่วยแก้ปัญหาของประเทศนี้ได้ เราจึงตั้งชื่อโครงการง่ายๆ ว่า ‘รวมพลังคนไทยเอาชนะภัยท้องถนน’ คอนเซ็ปท์หลักอยู่ตรงที่การรวมพลังคนไทย เพราะปัญหานี้เกี่ยวข้องกับทุกคน และขนาดของปัญหาในปัจจุบันนั้นใหญ่มาก”
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุถึงความตั้งใจของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ยกประเด็นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นประเด็นเรือธง (Flagship) ขององค์กรในปี 2562 ที่กำลังจะมาถึง โดยอธิบายต่อไปว่า อุบัติเหตุเป็นสาเหตุการตายของคนไทยในลำดับต้นๆ มานานแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปัญหาอื่นๆ จะพบว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นประเด็นที่ไม่มีคำถาม ไม่มีจำเลย และเป็นปัญหาที่ตกลงจนสุดเหวแล้ว และแม้สถิติของประเทศไทยจะขยับลงจากอันดับ 2 เป็นอันดับ 9 ของโลกด้านอุบัติเหตุทางถนน แต่สถิติผู้เสียชีวิตจากจักรยานยนต์ของไทยก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของโลก
 
   โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และมีการทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่ร่วมกันรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน สนับสนุนการตรวจเฝ้าระวัง และการพัฒนาถอดความรู้จากพื้นที่ต้นแบบ หากจุดที่อ่อนที่สุดคือ สังคม พฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลายของคนแทบไม่เปลี่ยน คนไทยใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของตัวเองน้อยไป วินัยหย่อนยาน การบังคับใช้กฎหมายแบบไทยๆ มีข้อยกเว้นโดยตลอด ส่วนการรณรงค์ของรัฐก็มีลักษณะสั่งการจากบนลงล่าง (top-down) อย่างมาก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ สช. ต้องการจะเข้าไปทำงานด้วย
 
   “การเคลื่อนสังคม ต้องทำให้สังคมปรับเปลี่ยนเจตคติ เปลี่ยนพฤติกรรม โดยเปลี่ยนจาก ‘คนดู’ เป็น ‘ผู้แสดง’ การจะให้ประชาชนลุกมาปฏิบัติการได้ต้องใช้เทคนิคกระบวนการที่ทำให้เกิด ‘การระเบิดจากภายใน’ เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมแบบเป็นธรรมชาติ โดย สช. จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘Mind Storming’ ซึ่งไม่ได้เอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แต่เริ่มต้นจากใจถึงใจก่อน แล้วจึงเข้าสู่ประเด็นว่าคุณมีญาติพี่น้องตายจากอุบัติเหตุไหม เราจะแก้ปัญหากันยังไงดี” นพ.พลเดช ระบุ
 
   ทั้งนี้ กลุ่มคนที่ สช. เตรียมการเข้าไปปลุกพลัง จะเป็นกลุ่มเสี่ยง คนชายชอบ และผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ กลุ่มนักเรียนอาชีวะ วินมอเตอร์ไซค์ ญาติพี่น้องของคนที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยระดมความคิดริเริ่มของคนแต่ละกลุ่มในการจัดการพื้นที่ตัวเอง และมีการทำกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น การรวมตัวสำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่ จุดไหนโค้งร้อยศพ ทางแยกที่รถชนกันบ่อย เป็นต้น โดยนำสถิติมาสอบถามกับผู้คนในชุมชนอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนนี้จะเปลี่ยนชาวบ้านในชุมชนที่เคยเป็นเพียง ‘ผู้ชม’ หรือ ‘คนดู’ ให้เป็น ‘ผู้แสดง’ หรือเป็นคนที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการ แล้วระดมแนวทางการแก้ปัญหา ก่อนจะนำข้อเสนอที่ได้ไปพูดคุยกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
 
   “ปฏิบัติการนี้จะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การร่วมคิดร่วมทำระหว่างประชาชนกับรัฐ หรือ co-management โดยประชาชนเป็นคนลุกไปหาเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนร่วมกัน”
 
   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวต่อว่า ในช่วงแรกจะเป็นขั้นเตรียมความพร้อม เตรียมทีม เตรียมวิทยากร เตรียมกระบวนการที่จะทำ Mind Storming ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมข้อมูลสถิติที่มีอยู่เพื่อส่งต่อให้กับภาคีต่างๆ ในระดับพื้นที่
 
   โดยในปี 2562-2563 สช. จะเอาเรื่องนี้มาหารือกับหน่วยงานภาคีระดับชาติเช่น กระทรงสาธารณสุข สสส., สปสช., สพฉ. ฯลฯ โดยจะใช้พื้นที่ประจำ คือ วงเสวนา Road Safety Forum เป็นการคุยในหมู่องค์กรเชิงยุทธศาสตร์ทั้งรัฐและภาคประชาสังคมทุกๆ 2 เดือนซึ่งจะต้องมีสถิติ มีตัวชี้วัดมาแสดง ในเวทีจะมีการชื่นชมกรณีศึกษาดีๆ จากทุกส่วน เพื่อให้ต่างคนต่างเอาไปปรับประยุกต์ใช้ได้เลย ไม่ต้องรอคำสั่ง ไม่ทำเฉพาะเทศกาล แต่จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขคลาสสิกหายนะที่คร่าชีวิตคนไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

หมวดหมู่เนื้อหา