5 ปี ยุทธศาสตร์รวม “แสงเลเซอร์” ขับเคลื่อนสู่พลังชุมชนเข้มแข็ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content

   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานสถานการณ์ชุมชนเข้มแข็งปี 2562 คาดอีก 5 ปี ระบบสุขภาวะชุมชนของประเทศสามารถพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพที่ดีกว่า 60 % ตามเป้าในหลายองค์กร
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานฯ เปิดเผยในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2562 ว่า จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 เรื่อง ยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะ และองค์กรภาคีที่เป็นแม่ข่ายระดับชาติ 33 องค์กรได้ลงนามความร่วมมือและประกาศเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง การสร้างกลไกรวมแสงเลเซอร์ (การบูรณาการ) ร่วมกันในระดับตำบล, ระดับจังหวัด-อำเภอ, ระดับชาติ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพขององค์กรชุมชนทั่วประเทศให้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2567) นั้น
 
   ในขณะนี้พบว่า กลไกดังกล่าวได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาครึ่งทางแล้ว ในปีนี้ (พ.ศ. 2562) เมื่อเทียบกับปีก่อน (พ.ศ.2561) ระดับความเข้มแข็งในหลายๆ องค์กรส่วนใหญ่มีคุณภาพดี หรือสูงสุดในเครือข่ายของตนเอง อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีสัดส่วน ดังนี้ องค์กรชุมชนในระดับหมู่บ้าน แบ่งเป็น 1)กลุ่มสินค้าชุมชน OTOP 19,000 ราย อยู่ในระดับห้าดาว 19.4% ระดับสี่ดาว 41.2% รวมสองระดับเป็น 60.6% 2)กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 79,255 แห่ง อยู่ในระดับดีที่สุด 36.5% 3)ป่าชุมชน 15,404 หมู่บ้าน ดูแลป่าชุมชนเนื้อที่รวม 7.36 ล้านไร่ มีป่าชุมชนในระดับดีที่สุด 33.9% องค์กรชุมชนในระดับตำบล 1)กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 7,666 กลุ่ม มีระดับดีที่สุด 29.0% 2)สภาองค์กรชุมชน 7,666 องค์กร มีระดับที่ดีที่สุด 13.5% 3)กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล 7,763 แห่ง มีระดับที่ดีที่สุด 77.3%
 
   “การขับเคลื่อนมติยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์ฯ ได้ผ่านมาครึ่งทาง คือ ถึงปีที่ 5 แล้ว องค์กรภาคีความร่วมมือ 33 องค์กรจึงควรทบทวนงานประเมินคุณภาพองค์กรชุมชนในส่วนของตนอย่างเป็นระบบและถ้วนทั่วสักครั้ง เพื่อจะได้รวบรวมให้เห็นภาพความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนแบบทั้งกระดาน ทั้งประเทศ ถ้าจะทำเช่นนั้นได้ สช.และคณะทำงานร่วมควรจะมีการวางแผนและดำเนินการกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้นำผลมารายงานต่อเวทีมหกรรมชุมชนสุขภาวะในครั้งต่อไป” นพ.พลเดช กล่าว
 
   ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ “สังคมสุขภาวะ” โดยใช้หลักการ “การสานพลัง” เชื่อมโยงสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้ใช้เครื่องมือและกลไกต่างๆ ภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพแทนการซ่อมสุขภาพ (สร้างนำซ่อม) อันเป็นทิศทางที่สำคัญของการสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน
 
   ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็ง : ชุมชนสุขภาวะ” ภายในงานมหกรรมชุมชนสุขภาวะ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2562 ในตอนหนึ่งว่า มนุษย์เราอย่างน้อยต้องมีจิตสำนึก ในการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อความสุข และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของแผ่นดิน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าคนในประเทศอยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างทะนุถนอม บรูณาการทุกอย่างที่เอื้อต่อชีวิต ส่งต่อสิ่งต่าง ๆ ของแผ่นดินในสภาพที่ดีให้รุ่นต่อ ๆ ไปที่เป็นผู้รับอย่างไม่รู้จบ และมีจุดหมายเดียวกันทั้งหมด คือ “การรักษาแผ่นดิน” เพื่อก่อประโยชน์สุข ซึ่งเกิดจากการทำทุกสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพราะเมื่อประโยชน์เกิดขึ้นเราย่อมเกิดความสุขตามมา
 
   “ถ้าอะไรไม่มีประโยชน์อย่าทำ เพราะจะส่งต่อลูกหลานด้วย ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ที่ดีต่อตัวเรา ต่อชุมชน ต่อส่วนรวม ต่อประเทศ ต่อโลก ดำรงความเป็นมนุษย์อยู่ให้ได้บนฐานของประโยชน์สุข เพื่อความยั่งยืนตลอดไป อย่าปนความสุข กับคำว่าสนุก” ดร.สุเมธ กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ