- 7331 views
หากพูดถึง ‘สุขภาพกายและจิต’ คงเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ยาก
พอเป็นเรื่อง ‘สุขภาพสังคม’ แม้เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้น แต่เราก็ยังพอจับต้องได้ว่าหมายถึงอะไร มันสำคัญอย่างไรต่อสุขภาพของเรา
แต่สำหรับ ‘สุขภาพทางปัญญา’ หลายคนส่ายหน้า ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรกันแน่
กระนั้นก็ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้ให้ความหมายต่อสุขภาพที่กินความทั้งกาย จิต สังคม และรวมไปถึงปัญญา อย่างเป็นองค์รวมและสมดุล
“สุขภาพทางปัญญามีความซับซ้อนและต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สนับสนุนการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ
ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับที่ 2 ใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2559 ซึ่งระบุเรื่องสุขภาพทางปัญญาไว้ทั้งในส่วนของภาพพึงประสงค์และหลักการสำคัญ โดย สช. กำลังทำงานร่วมกับภาคีเพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องสุขภาพทางปัญญาและเข้าถึงสุขภาพทางปัญญาที่เชื่อมโยงเป็นองค์รวมกับสุขภาพในมิติอื่นๆ”
เป็นคำกล่าวของ ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ กรรมการบริหาร รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในเวที ‘ชวนคิด ชวนคุย มิติสุขภาพทางปัญญา’ ซึ่ง สช. ร่วมกับ สสส. สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) และธนาคารจิตอาสา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมริชมอนด์ เพื่อช่วยกันหากรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในการสร้างสุขภาพทางปัญญาให้แก่สังคม
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ ประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมา สช. ทำงานในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมวางกรอบและมองหาทิศทางสู่สุขภาพทางปัญญาร่วมกัน
“สุขภาพทางปัญญา คือ การรู้ทั่ว รู้เท่าทัน เข้าใจ และแยกแยะประโยชน์และโทษได้ ซึ่งจะนำไปสู่จิตใจที่นึกถึงผู้อื่น โดยอยากโยงว่าสุขภาพทางปัญญาเป็นฐานรากของสุขภาพแบบองค์รวม และไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเรื่องของศาสนา สำหรับในเรื่องการดำเนินการนั้น สิ่งที่เราอยากเห็นคือทำอย่างไรที่เราจะมีกรอบแนวทางในการดำเนินการเรื่องนี้ รวมถึงสาระด้านต่างๆ ของสุขภาพทางปัญญามีเรื่องราวที่เราจะนำไปสู่การพัฒนาต่อได้อย่างไร” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
สนทนา 9 ฐาน ตามหาสุขภาพทางปัญญา
การพูดคุยครั้งนี้ สช. ได้เชิญหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมหารือ โดยแบ่งฐานการสนทนาเป็น 9 หัวข้อหลักประกอบด้วยฐานธรรมชาติ ฐานจิตอาสา ฐานงานบันดาลใจ ฐานความสัมพันธ์ ฐานการเรียนรู้ ฐานการเคลื่อนไหวร่างกาย ฐานศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์ ฐานภาวนา และฐานความเป็นธรรมทางสังคม
ในแต่ละฐาน การพูดคุยเป็นไปอย่างออกรสชาติและดึงเอาสิ่งที่แต่ละคนคิด-ทำออกมาขยายให้คนอื่นสัมผัสและเข้าถึงในเรื่องของแรงบันดาลใจและบทเรียนที่ได้จากการทำงาน อาทิเช่น
พฤ โอโดเชา นักกิจกรรมชาวปกากะญอจากจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมฐานความเป็นธรรมทางสังคม บอกเล่าถึงปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่กับผืนป่ามานาน แต่วันหนึ่งรัฐก็ไล่พวกเขาออกจากผืนป่า ประสบการณ์นี้ทำให้เขาเรียนรู้ว่าตนเองมีสิทธิและได้ลุกขึ้นเรียกร้องเพื่อหมู่บ้านของเขา
นาดา ไชยจิตต์ คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คนชายขอบทุกประเภท โดยเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมักต้องเผชิญอคติของคนในสังคม ซึ่งนำไปสู่การตีตรา การเลือกปฏิบัติ และหนักสุดคือการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เรียนรู้ที่จะเคารพตนเองและผู้อื่น เห็นความสำคัญของการช่วยเหลือผู้อื่น และเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
ส่วนในฐานการเรียนรู้ ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นว่า สังคมไทยให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้’ มากกว่า ‘การเรียนรู้’ หลักสูตรเดียวใช้ทั้งประเทศ จึงควรหาแนวทางให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างพื้นที่พูดคุยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้สังคมชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับทักษะในการดำเนินชีวิต การคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม และการลงมือทำ
ร่วมวางเป้าหมายสู่สุขภาพทางปัญญา
การแบ่งกลุ่มสนทนายังมุ่งไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาพทางปัญญา แนวทางที่ทำแล้วได้ผล และตัวชี้วัดความสำเร็จ ของแต่ละฐาน
บฤงคพ วรอุไร อาจารย์ประจำวิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ อยู่ในฐานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์นำเสนอว่า
“การใช้ศิลปะเพื่อขับเคลื่อนสุขภาพทางปัญญา ในกลุ่มของเราพบคำสำคัญคำหนึ่งที่เป็นปัญหาร่วมกันและเราก็นำประเด็นนี้ขึ้นมาคุย คือเราพบว่าคนไทยไม่ค่อยเข้าใจงานศิลปะ
ตัวอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างโบสถ์ ยิ่งใช้ทุนเยอะ หลังใหญ่ จะยิ่งสวย และในที่สุดวันที่ฉลองโบสถ์ เราก็ตัดต้นไม้เพื่อทำลานจอดรถ นี่เป็นปัญหาที่สะท้อนการขาดความเข้าใจเรื่องศิลปะหรือความงามของคนไทย
ในมิติที่ลึกลงไปอีกคือ เมื่อคนเราไม่เข้าใจศิลปะทั้งที่มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองได้ เมื่อเรายังไม่เข้าใจตัวเอง โอกาสที่เราจะเข้าใจมนุษย์คนอื่นก็ยิ่งยากขึ้น ดังนั้น การขับเคลื่อนงานสุขภาพทางปัญญาด้วยงานศิลปะคืออะไร ก็คือการใส่ความเข้าใจศิลปะลงไปในตัวคนไทย เมื่อเข้าใจแล้วก็น่าจะแก้ปัญหาได้หลายอย่าง”
นอกจากนี้ ยังมีการยกตัวอย่างเรื่องการใช้ศิลปะจากการเขียน การปั้น การวาดภาพนิทานในการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และลงมือปฏิบัติอย่างมีสมาธิและมีสติ
ตัวอย่างการทำงานของอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีที่ใช้กระบวนการเขียนเข้าไปทำงานกับผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวาง ผลปรากฏว่าผู้ต้องขังเหล่านั้นสามารถเขียนได้กินใจผู้อ่าน อรสมยังเคยทดลองให้ผู้ต้องโทษเขียนนิทานภาพสำหรับเด็ก ผู้ต้องขังที่เป็นอดีตมือปืน 2 คนได้เขียนนิทานแล้วอ่านให้กันฟัง และพบว่านิทานภาพนั้นมีความใสบริสุทธิ์มาก เป็นความใส ความบริสุทธิ์ของเขาทั้งสองที่ถูกทิ้งและไม่ได้รับการเหลียวแลมานาน และนิทานได้กระตุ้นให้ความงามที่ถูกกลบไว้ให้ผุดขึ้นมา
กับคำถามที่ว่า แล้วจะวัดความสำเร็จอย่างไรจากเรื่องความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะ ดูเหมือนยากที่จะวัด แต่หากมองให้กระจ่าง ผลงานที่ผู้คนสร้างสรรค์ออกมาก็เป็นตัวชี้วัดในตัวมันเองแล้วไม่ใช่หรือว่าในหัวใจของผู้สร้างสรรค์ยังมีความงามอยู่
ขณะที่ฐานงานบันดาลใจ ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย จาก สวสส. ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของฐานนี้ว่า ยุทธศาสตร์ คือ “จะพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านงานที่น่าเบื่อ ที่น่ารังเกียจได้อย่างไร” โดยได้ข้อสรุปว่า เรื่องนี้มีแนวทางอยู่ 5 ประการ หนึ่ง-ทำอย่างไรให้คนในองค์กรมองเห็นคุณค่างานของตนเอง เพราะงานทุกงานมีค่า แต่ระบบอาจมาบดบังสายตาคนทำงาน สอง-การมีสัมพันธภาพที่ดีในองค์กร สาม-ทำอย่างไรให้คนในองค์กรมีสติก่อนที่จะทำหรือพูดอะไรออกไป สี่-ทำอย่างไรให้มองเห็นสำนึกต่อสังคมและเพื่อนมนุษย์ เพราะงานที่ทำไม่ได้ทำเพื่อตัวเราคนเดียว แต่เพื่อคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก และ ห้า-ทำอย่างไรให้มองเห็นความหลากหลายของคนในองค์กรได้
“ส่วนแนวทางที่ทำแล้วได้ผลในเรื่องงานบันดาลใจ คือ การใช้เรื่องเล่าเป็นตัวขับเคลื่อน เพราะการมองเห็นคุณค่างานเป็นเรื่องนามธรรม เห็นไม่ชัด จึงต้องทำผ่านเรื่องเล่าหรือผ่านเคส เพราะจะทำให้เห็นการที่มนุษย์สามารถก้าวข้ามบางเรื่องได้ในการทำงานโดยเล่าผ่านเคส ซึ่งมันจะทรงพลัง และเราจะสามารถใช้เรื่องเล่านี้ไปเสริมพลังคนในองค์กรได้ด้วยเพราะจะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในองค์กร อีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ คือ การสร้างทีม โดยใช้การโค้ชผ่านการทำงาน” ดร. บุษบงก์ กล่าว
ในแง่ของการประเมินหรือวัดผลสำเร็จนั้น ดร. บุษบงก์ กล่าวว่า สามารถทำได้หลายวิธี วิธีแรก คือ ประเมินผ่านงานที่ทำว่าทำแล้วมีผลกระทบหรือสามารถขยายผลเติบโตขึ้นได้อย่างไร วิธีที่ 2 คือวัดจากการได้รับการยอมรับ วิธีที่ 3 คือ การประเมินแบบ Traditional Evaluation ซึ่งยังมีความจำเป็นอยู่ และวิธีสุดท้าย ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การทำ Empowerment Evaluation เช่น ทำโครงการหนึ่งแล้วประเมินว่าทั้งผู้เข้าร่วมโครงการและผู้ที่ทำโครงการเอง มีทัศนคติที่เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งนี่คือการประเมินความเปลี่ยนแปลงระหว่างกระบวนการ โดยการเปลี่ยนทัศนคติได้นั้นเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า
โยงใยทั้ง 9 ฐาน สู่สุขภาพทางปัญญา
หลังการสนทนาในฐานต่างๆ เสร็จสิ้น นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขมวดปมทั้ง 9 ฐานให้เห็นความโยงใยเกาะเกี่ยวกัน อันจะนำไปสู่สุขภาพทางปัญญาว่า
“เรื่องแรกคือเรื่องธรรมชาติ ผมคิดว่าเรื่องความสัมพันธ์กับธรรมชาติต้องลดการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือลดอัตตาของมนุษย์ลง โดยเรื่องธรรมชาติในมิติทางปัญญา มนุษย์ต้องมีจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม มีความอ่อนน้อมต่อธรรมชาติและความอ่อนโยนต่อสรรพสิ่ง
การที่มนุษย์มีความรู้สึกเดือดร้อนไปกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมนี้ สามารถโยงเข้ากับเรื่องสุนทรียภาพได้ ซึ่งคำว่าสุนทรียภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Aesthetic แต่ในวงการแพทย์มีคำว่า Anesthetic ซึ่งเป็นคำตรงกันข้ามกัน โดยคำว่า Anesthetic คือวิชาวิสัญญีวิทยา เป้าหมายของวิชาคือการทำให้คนสูญเสียความรู้สึก
ดังนั้น คำว่า Aesthetic ก็คือเต็มไปด้วยความรู้สึก รู้สึกกับความทุกข์ร้อนของผู้คน ความไม่เป็นธรรมทางสังคม ถ้าเราไม่รู้สึกเลยก็เหมือนกับอยู่ในสภาวะดมยา แต่ถ้าเรายังรู้สึกอยู่ ก็ถือว่าเรายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ โดยเรื่องสุนทรียภาพนั้นต้องการศิลปะมาเสริม ซึ่งศิลปะเป็นศักยภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ ศิลปะได้เปลี่ยนเราจากผู้เสพไปเป็นผู้สร้าง ศิลปะมีไว้เพื่อให้เราได้สร้างสรรค์เพราะเราไม่สามารถมีชีวิตเป็นแค่ผู้เสพอย่างเดียว
เรื่องภาวนา ในความหมายของพุทธหมายถึงการทำให้มากขึ้น หรือทำบ่อยๆ ซึ่งผมเชื่อโดยพื้นฐานว่า ‘You are what you often do.’ คือ ถ้าเราทำเรื่องนั้นบ่อยๆ ตัวเราก็จะเป็นแบบนั้น นอกจากนี้ ในการทำอะไรเราต้องอยู่กับสิ่งที่เราทำ อยู่กับปัจจุบัน โดยต้องตระหนักรู้ตลอดผ่านการทำ การเคลื่อนไหวต่างๆ ของตนเอง และบางเรื่องอาจต้องทำโดยทวนกระแสความเคยชิน ทวนกระแสความสะดวกสบายและกิเลส ทำให้บางเรื่องทำบ่อยๆ ไม่ไหว เพราะมันทวนกระแสหลายสิ่ง มันก็เลยทำลำพังไม่ค่อยได้ ซึ่งก็จะโยงไปหาเรื่องความสัมพันธ์ โดยคนเราจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่จะหล่อเลี้ยงให้เราทำงานหรือสิ่งที่ยากได้ เพราะบางงานเป็นงานที่ทำสำเร็จโดยลำพังไม่ได้
เรื่องความสัมพันธ์กับสุขภาพทางปัญญาในที่นี้ จึงหมายถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับผู้คนและกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งความสัมพันธ์ของคนในองค์กรที่ทำงานนั้นก็สำคัญ เพราะหากคนในองค์กรทะเลาะกัน งานก็จะแย่ไปโดยปริยาย”
นพ.โกมาตร แนะนำว่าในองค์กรที่ทำงานจะมีงานที่น่าเหนื่อยและเป็นภาระ ดังนั้นเราจึงควรมีงานบันดาลใจสัก 10 เปอร์เซ็นต์เอาไว้หายใจหรือช่วยต่อชีวิตอุดมคติไม่ให้มันตาย ช่วยทำให้มีแรงขึ้นมาใหม่เพื่อไปทำงานอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือซึ่งเป็นงานที่ไม่ชอบ แต่ก็ต้องทำ นอกจากนี้ยังมีงานอีกแบบคืองานที่ชอบและดิ้นรนไปทำ ซึ่งก็คืองานจิตอาสาที่อยากจะสร้างประโยชน์ต่อสังคม
“เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะโยงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพทางปัญญา คือ เรื่องการเรียนรู้ โดยผมเห็นว่าควรมีการเรียนรู้ผ่านแนวคิด 3 แนว คือ เรื่องสุนทรียะหรือการเรียนรู้ที่จะรู้สึก จริยะหรือการเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อผู้คนและโลก และศักยะก็คือความสามารถของเราที่จะเติบโตงอกงามตามที่มนุษย์จะพึงมี เมื่อสุนทรียะและจริยะมาประกอบกันเข้า ศักยภาพของมนุษย์ก็จะไม่มีที่สิ้นสุด”
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143