กรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ครม. ดันกฎหมายฉบับใหม่สร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Skip to main content
Audio file

   ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไฟเขียว ร่าง ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... หวังใช้เป็นกลไกเชื่อมโยงการปฏิรูปประเทศ สนับสนุนรากฐานชุมชน ขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม เตรียมเสนอ ครม. เร็วๆ นี้
 
   การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ ๕/๒๕๖๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๑ มี นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่ประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำ (ร่าง) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านสังคม เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และวิชาการ เป็นการสานพลังเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก
 
   “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งฯ จะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ข้อที่ ๔ ด้านโอกาสและความเสมอภาค การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการพึ่งตนเองและการจัดการตนเอง และแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยให้ตำบลเป็นพื้นที่พัฒนาอย่างบูรณาการ เป็นกลไกที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการ สร้างสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป”
 
   ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ รวมถึงได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และสำนักนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้กระชับและเหมาะสมต่อการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาและสาระสำคัญอีกครั้งใน ๔ ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
 
   ๑) ปรับเปลี่ยนชื่อร่างจากเดิมชื่อ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ....” เป็น “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ.... ๒) โครงสร้างคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งแห่งชาติ (ก.ช.ช) จาก ๔๕ คน เหลือ ๔๒ คน ประกอบด้วย ประธาน ๑ คน รองประธาน ๒ คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๖ คน ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ๑๕ คน ภาควิชาการ ๔ คน และภาคประชาสังคม ๑๔ คน ๓) อำนาจหน้าที่ของ ก.ช.ช. สามารถนำข้อเสนอเชิงนโยบายหรือมติสมัชชาด้านการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งต่อคณะรัฐมนตรีได้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จ และ ๔) ไม่ระบุการแต่งตั้งกรรมการระดับจังหวัดเพื่อความเหมาะสมของจำนวนกรรมการ โดยอาจปรับการดำเนินการของจังหวัดเป็นรูปแบบของคณะอนุกรรมการ
 
   “กฎหมายฉบับนี้มีวาระ ๕ ปี เชื่อมร้อยกลไกในพื้นที่ให้เข้มแข็งโดยไม่ซ้ำซ้อนกับการทำงานที่มีอยู่เดิมของหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นกลไกแนวตั้ง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ส่งเสริมกลไกแนวนอน เช่น ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ประชารัฐสามัคคี องค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ให้มีบทบาทเข้าถึงความต้องการของชาวบ้านได้ดีขึ้น”
 
   นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะนำ ร่างฯ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ.... เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเมื่อมีผลบังคับใช้จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกรอบและแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติตามเป้าหมายชุมชนเข้มแข็งและมีสุขภาวะที่ดีได้ต่อไป
 

ท่านสามารถดูภาพที่เหลือโดยกดที่นี่

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ