สช. โบกธงปฏิรูปสังคมสร้าง ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ เร่งขับเคลื่อนกฎหมาย-วางกลไกทุกพื้นที่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เวทีคิกออฟขับเคลื่อนปฏิรูปชุมชนคึกคัก เครือข่ายทั่วประเทศกว่า ๒๐๐ คนเข้าร่วม หมอประเวศแนะดึงศักยภาพผู้นำชุมชน ๔ ล้านคนทั่วประเทศทำงานร่วมภาครัฐ ตั้งเป้าชุมชนเข้มแข็ง ๘ ด้าน ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม กระจายความเจริญสู่จังหวัด ด้าน สช. เปิดรับฟังความเห็น ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... เชื่อนำไปสู่การปฏิรูปกลไกทำงานทุกพื้นที่
 
   เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที Kick off สานใจ สานพลัง ภาคีสนับสนุนปฏิรูปชุมชนเข้มแข็ง ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ และ การพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีภาคีเครือข่ายการปฏิรูป ๑๑ ด้าน สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด เครือข่ายสุขภาพ กทม. เครือข่ายทำงานระดับตำบล ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการกว่า ๒๐๐ คนเข้าร่วม
 
   ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บรรยายพิเศษหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็ง : หัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย” กล่าวว่า ชุมชนถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ทำให้เกิดความมั่นคงเข้มแข็ง เหมือนพระเจดีย์ที่ไม่สามารถสร้างจากยอดบนสุดแต่ต้องสร้างจากฐานล่าง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมี ๘ หมื่นหมู่บ้านและทุกๆ แห่งจะมี “ผู้นำตามธรรมชาติ” ประมาณ ๔๐-๕๐ คน ไม่ว่ากลุ่มครู พระสงฆ์ ศิลปิน ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มสตรี ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นคนมีคุณภาพได้รับการยอมรับจากประชาชน เมื่อรวมทั้งประเทศแล้วจะมีถึง ๔ ล้านคน
 
   “การขับเคลื่อนนโยบายชุมชนเข้มแข็ง ควรเชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการและให้ความสำคัญกับผู้นำตามธรรมชาติทั้ง ๔ ล้านคน จัดตั้งสภาผู้นำชุมชนหรือสภาประชาชนทุกหมู่บ้าน ให้เกิดเป็นพลังพลเมืองตื่นรู้ ขับเคลื่อนแผนชุมชนมุ่งเน้น ๘ เรื่อง คือ เศรษฐกิจ จิตวิญญาณ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย”
 
   ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า ขณะนี้แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศมีผลบังคับใช้แล้ว มุ่งให้ความสำคัญกับกลไกขับเคลื่อนทุกองค์กรที่ทำงานพัฒนาชุมชน จับมือร่วมกันมีเป้าหมายคือเพิ่มสิทธิและบทบาทของชุมชนทั้งเรื่องสวัสดิการ ทรัพยากร ทุน และเศรษฐกิจชุมชน
 
   “การทำงานสร้างชุมชนเข้มแข็งจะเป็นแบบแนวราบ ไม่ใช้อำนาจสั่งการแบบแนวดิ่ง สานพลังเหมือนลมใต้ปีกให้กันและกัน บนหลักการประชารัฐ” นพ.อำพลระบุ
 
   นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า ตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ชาติคือต้องสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ยกตัวอย่างในด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันช่องว่างคนจนและคนรวยสูงถึง ๒๒ เท่า ก็ควรลดเหลือไม่เกิน ๑๕ เท่า จัดทำดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคนและสังคมประกาศทุก ๒ ปี และมีจังหวัดศูนย์กลางความเจริญ ๑๕ จังหวัด
 
   “ปีนี้จังหวัดที่จนสุดคือแม่ฮ่องสอน แต่เป้าหมายคือภายใน ๒๐ ปีแม่ฮ่องสอนต้องพัฒนามาอยู่ระดับกลางให้ได้ ชุมชนจึงเป็นตัวสำคัญเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการทำงานร่วมกัน”
 
   นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รัฐบาลได้ขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน มีทีมงานลงพื้นที่สอบถามปัญหาความต้องการของชุมชนทั้ง ๘ หมื่นหมู่บ้าน ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
 
   นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. กล่าวว่า พอช. มีวิสัยทัศน์ช่วง ๕ ปีข้างหน้า คือชุมชนจัดการตนเองได้ และ พ.ศ.๒๕๗๕ จะเข้มแข็งทั้งประเทศ แต่การทำงานต้องเชื่อมโยงชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น ประชาคม ภาควิชาการ หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง มีงบประมาณที่ชุมชนจัดการตนเองภายใต้หลักธรรมาภิบาล
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ.... โดย ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายถึงที่มา ความสำคัญ และแนวทางการดำเนินงานว่า ร่างระเบียบสำนักนายกฯ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับมอบหมายให้จัดตั้ง สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง เป็นหน่วยงานภายในของ สช. เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งระดับชาติ และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็งระดับจังหวัด
 
   “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งเน้นสั่งการ แต่ช่วยเสริมการทำงานของภาครัฐให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ สร้างกลไกการมีส่วนร่วม ทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศ”
 
   ขณะที่ภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมก็ได้ช่วยกันให้ความเห็นต่อร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง พ.ศ. .... อาทิ ขอให้เพิ่มสัดส่วนของภาคประชาสังคมในคณะกรรมการฯทั้งระดับชาติและจังหวัด การขยายขอบเขตคำว่าชุมชนให้รวมถึงการรวมกลุ่มตามสาขาอาชีพและลุ่มน้ำ และการสร้างความตื่นตัวให้ชุมชนร่วมกันขับเคลื่อน โดย สช. จะมีการจัดเวทีประสานเครือข่ายขับเคลื่อนเพื่อชุมชนเข้มแข็งเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ